วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คณะกรรมการKm วพบ.สระบุรี ศึกษาดูงานKmคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล

วันที่ 4 กรกฎาคม 2554 คณะกรรมการKm วพบ.สระบุรี ไปศึกษาดูงาน Km คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับการต้อนรับและให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ขอขอบคุณมาณที่นี้ด้วย

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การสังเคราะห์งานวิจัยเรื่อง การพัฒนามาตรฐานทางคลินิกเรื่องการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูด

           การดูดกลืนทางปากนับเป็นปัญหาที่สำคัญของทารกคลอดก่อนกำหนด และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีระยะเวลานานในการอยู่โรงพยาบาลส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการให้การดูแลรักษาพยาบาล พยาบาลต้องมีความเข้าใจ สามารถประเมินพฤติกรรมของทารกคลอดก่อนกำหนดในการแสดงความพร้อมของการดูดนมทางปากได้ คณะผู้วิจัยเน้นให้เห็นปัญหาของการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นประโยชน์และความจำเป็นในการจัดทำมาตรฐานทางคลินิก เพื่อใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานของพยาบาล ซึ่งช่วยให้พยาบาลมีแนวทางการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด และมีแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน อันจะมีผลดีต่อการบริการ และคุณภาพชีวิตของทารกคลอดก่อนกำหนดและครอบครัว
          การวิจัยครั้งนี้มีประโยชน์ยิ่งต่อระบบบริการสุขภาพ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาระบบการทำงานในหน่วยทารกคลอดก่อนกำหนดทั้งในโรงพยาบาลสระบุรี และหน่วยบริการสุขภาพอื่น  โดยจุดเด่นของการวิจัยนี้ คือมีขั้นตอนการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
การสังเคราะห์วิจัยครั้งนี้ มุ่งสังเคราะห์ในประเด็นข้อค้นพบจากผลงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยมุ่งขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆในระบบบริการสุขภาพที่สามารถจะใช้ประโยชน์จากการวิจัยครั้งนี้ต่อไป รวมทั้งการวิจัยต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัย
          เป้าหมายสูงสุดของของการสังเคราะห์งานวิจัยในครั้งนี้ มุ่งที่จะค้นหาจุดอ่อนและจุดแข็งของงานวิจัย ตลอดจนแนวทางการพัฒนา เพื่อชี้นำกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยครั้งนี้ได้นำไปใช้ได้สอดคล้องกับภารกิจ  ดังนั้นจึงกำหนดวัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัยไว้ดังนี้
1.เพื่อค้นหาข้อค้นพบใหม่จากงานวิจัยพัฒนามาตรฐานทางคลินิกเรื่องการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด
2. เพื่อค้นหาจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวทางการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกในการทำวิจัยครั้งต่อไป
กระบวนการสังเคราะห์งานวิจัย
          การสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ
1.ทบทวนงานวิจัยจำนวน 1 เรื่อง เรื่อง การพัฒนามาตรฐานทางคลินิกเรื่องการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด หอผู้ป่วยเด็ก 3 ณ โรงพยาบาลศูนย์ สระบุรี  ผู้วิจัยคือ 1.ดร.จรรยาณี กริฟฟิน อ.วราภรณ์ จันทร์ส่อง อ.ประกริต รัชวัตร์ อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี  นางกนกลักษณ์ คัมภิรานนท์ นาง พรปวีณ์ ภาษี นางจินตนา นิ่มสุนทร และนางสาวสุกัญญา                  สุขภิรมย์ นางทองภรณ์ จันทร์ภิบาล พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสระบุรี   ซึ่งเป็นวิจัยที่มีจุดเด่นในการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกโดยมีขั้นตอนพัฒนามาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์  การตรวจสอบโดยประชาพิจารณ์จากผู้ปฏิบัติงาน การตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิและการศึกษาความเป็นไปได้โดยการนำไปทดลองใช้จริง
2.สังเคราะห์งานวิจัยถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อค้นพบ โดยจำแนกประเด็นสำคัญที่สนใจดังนี้
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ระเบียบวิธีวิจัย ข้อค้นพบเดิม ข้อค้นพบใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่ ประโยชน์ และโจทย์วิจัยใหม่ 
ข้อค้นพบจากการสังเคราะห์งานวิจัย
          จากแนวทางการสังเคราะห์แม้ว่าจะมีการสังเคราะห์ดังการจำแนกประเด็นสำคัญที่กล่าวข้างต้น แต่ เป้าหมายสำคัญของการนำเสนอผลการสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การนำผลการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกไปขยายผลในกลุ่มเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ซึ่งจะขอนำเสนอโดยอธิบายตามรายข้อค้นพบตามในลำดับต่อไปนี้
1.การวิจัยเชิงพัฒนานี้จัดว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น มีการจัดทำมาตรฐานการให้นมทางปากโดยการดูดเป็นรูปธรรม และมีการทดลองใช้มาตรฐานในคลินิกเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานกับพยาบาลกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7 ท่านซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยทารกคลอดก่อนกกำหนด  ซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้ในการนำมาตรฐานไปใช้จริง ด้านการปฏิบัติทั้ง  6 ด้าน ที่ระดับมากมากที่สุดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติและกิจกรรมที่มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ตามบริบทของโรงพยาบาลสระบุรี
          2.นอกเหนือจากประโยชน์โดยตรงในใช้มาตรฐานเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการให้นมทางปากของพยาบาล    การใช้มาตรฐานดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล  การลดอัตราการกลับเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการจำหน่ายจากโรงพยาบาล  และลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางปาก เช่น สำลัก หยุดหายใจ เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัย
  ในการสังเคราะห์งานวิจัยไม่เพียงแต่ค้นพบจุดแข็ง ในเรื่องการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกที่มีขั้นตอนที่เหมาะสมแล้วยังได้ข้อค้นพบใหม่จากการสังเคราะห์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ดังนี้
1.กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ แม้ว่างานวิจัยนี้จะระบุกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พยาบาลในหน่วยทารกคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามหลังการสังเคราะห์งานวิจัย พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะน่าจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ ได้แก่
  1.1 กลุ่มงานบริการพยาบาล สามารถนำมาตรฐานครั้งนี้ มาพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเพิ่มคุณภาพในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงมาตรฐานตามการเปลี่ยนแปลงของหลักฐานเชิงประจักษ์ ทุก 1 ปี
  1.2 หน่วยงานอื่นในกลุ่มการพยาบาลสามารถนำแนวทางการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกไปใช้เป็นต้นแบบการพัฒนามาตรฐานการพยาบาลด้านอื่นๆ
            1.3. หน่วยทารกคลอดก่อนกำหนด ในโรงพยาบาลต่างๆ สามารถนำมาตรฐานนี้ไปพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทในหน่วยงานของตนเอง
  1.4 อาจารย์พยาบาลในสถาบันการศึกษาสามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้สอนนักศึกษาพยาบาลทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
  จึงควรมีการประชาสัมพันธ์ผลการวิจัยครั้งนี้ไปยังหน่วยทารกคลอดก่อนกำหนดในสถานบริการ
สุขภาพ และสถาบันการศึกษาพยาบาลต่างๆ โดยมีการติดตามผล และขยายผลไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นการจัดการความรู้ในเรื่องนี้ต่อไป
2.ประเด็นการวิจัยครั้งต่อไป คณะผู้สังเคราะห์งานวิจัยมีความเห็นว่าควรจะมีการต่อยอดองค์ความรู้ในเรื่อง การศึกษาประสิทธิผลจากการนำมาตรฐานทางคลินิกเรื่อง การตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนดไปใช้ในหอผู้ป่วย โดยประเมินการลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล  การลดอัตราการกลับเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการจำหน่ายจากโรงพยาบาล และลดปัญหาภาวะ แทรกซ้อนจากการให้อาหารทางปาก เช่น สำลัก หยุดหายใจ เป็นต้น

สังเคราะห์ผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนารูปแบบการรำโทน

       การรำโทนเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ชาวไทยวนสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการปลุกใจชาวบ้านและการผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งสร้างความสามัคคีปรองดอง รักใคร่กลมเกลียวและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน ซึ่งการรำโทนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยวน ของชุมชนต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยชุมชนดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านสุขภาพและวัฒนธรรมของนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
งานวิจัยที่เลือกมาสังเคราะห์ในครั้งนี้ เป็นวิจัยที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านคือ การรำโทนของชุมชนไทยวน จังหวัดสระบุรี เพื่อมิให้สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่งในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นพันธกิจหนึ่งของวิทยาลัยพยาบาล ผู้วิจัยได้มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งได้มีการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และอนุรักษ์สืบต่อไป  โดยบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และนำมาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภายในวิทยาลัย  
การสังเคราะห์วิจัยครั้งนี้ มุ่งสังเคราะห์ในประเด็นข้อค้นพบจากผลงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อ
กลุ่มประชาชนในชุมชนต้นตาล ทั้งในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ครูในสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนต้นตาล  กลุ่มบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในตำบลต้นตาล-พระยาทด ในแง่มุมทั้งด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมสุขภาพ ทั้งในส่วนของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับชุมชนสามารถช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้เรียนได้เป็นอย่างดียิ่ง
วัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัย
          เป้าหมายสูงสุดของของการสังเคราะห์งานวิจัยในครั้งนี้ มุ่งที่จะค้นหาจุดอ่อนและจุดแข็งของงานวิจัย ตลอดจนแนวทางการพัฒนา เพื่อชี้นำกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยครั้งนี้ได้นำไปใช้ได้สอดคล้องกับภารกิจ  ดังนั้นจึงกำหนดวัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัยไว้ดังนี้
1.       เพื่อค้นหาข้อค้นพบใหม่จากงานวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน 
2.       เพื่อค้นหาจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวทางการพัฒนาในประเด็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในการทำวิจัยครั้งต่อไป
กระบวนการสังเคราะห์งานวิจัย
          การสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ
1.         ทบทวนงานวิจัยจำนวน 1 เรื่อง คือวิจัยชื่อ กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนารูปแบบการรำโทนของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ผู้วิจัยคือนางพเยาว์  พงษ์ศักดิ์ชาติ     นางสุจิรา  เหลืองพิกุลทอง และนางนัยนา  ภูลม ซึ่งเป็นวิจัยที่มีจุดเด่นในการพัฒนารำโทนรูปแบบใหม่โดยใช้กระบวนการวิจัยที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม
2.  สังเคราะห์งานวิจัยถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อค้นพบ โดยจำแนกประเด็นสำคัญที่สนใจดังนี้ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ระเบียบวิธีวิจัย ข้อค้นพบเดิม ข้อค้นพบใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่ ประโยชน์ และโจทย์วิจัยใหม่ 
ข้อค้นพบจากการสังเคราะห์งานวิจัย
          จากแนวทางการสังเคราะห์แม้ว่าจะมีการสังเคราะห์ดังการจำแนกประเด็นสำคัญที่กล่าวข้างต้น แต่ เป้าหมายสำคัญของการนำเสนอผลการสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การนำผลการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่ไปขยายผลในกลุ่มเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ซึ่งจะขอนำเสนอโดยอธิบายตามรายข้อค้นพบตามในลำดับต่อไปนี้
1.         การรำโทนรูปแบบใหม่เป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งพบว่าท่ารำของการรำโทน  ระยะเวลา ดนตรีที่ใช้ประกอบ จะสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้รำได้ เพราะเนื้อหาของเพลงที่มาประกอบการรำมีความสนุกสนาน สร้างความเพลิดเพลนแก่ผู้รำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเนื่องจากท่ารำเป็นท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวที่รุนแรงต่อกระดูกและกล้ามเนื้อของ   ผู้รำ
2.    การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวจะสามารถเชื่อมความสัมพันธภาพที่ดีของสถาบันการศึกษากับชุมชนในท้องถิ่น เพราะชุมชนเป็นฐานความรู้ที่ดีเยี่ยมที่จะให้นักศึกษาเข้าไปศึกษา และตอบสนองปรัชญาของสถาบันการศึกษามุ่งจัดการศึกษาที่เน้นชุมชนโดยเฉพาะวิทยาลัยพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การที่สถาบันการศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้านส่งผลให้เกิดการคุณค่า ความภาคภูมิใจต่อชุมชน รวมทั้งนักศึกษาที่เข้าไปเรียนรู้เกิดการความซาบซึ้งต่อคุณค่าศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งเพราะได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้นักศึกษาจะสามารถเข้าใจบริบทของชุมชน โครงสร้างและการประสานงานกับชุมชน
3.              การสร้างรายได้สู่ชุมชน จากการส่งเสริมการใช้ผ้าทอพื้นเมืองเป็นการแต่งกายของผู้รำโทน ซึ่งผ้าทอพื้นเมืองมีการผลิตในชุมชน ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรีมาช้านาน ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ในการแต่งกายในกิจกรรมต่าง ๆ จะเป็นช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างรายได้ให้คนในชุมชนต่อไป
ประโยชน์ที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัย
  ในการสังเคราะห์งานวิจัยไม่เพียงแต่ค้นพบจุดแข็ง ในเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งได้มีการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่  โดยบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภายในวิทยาลัย  แล้วยังได้ข้อค้นพบใหม่จากการสังเคราะห์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ดังนี้
1.    กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ แม้ว่าผู้ดำเนินงานวิจัยนี้จะระบุกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้รู้ด้านการรำโทน และนักศึกษาพยาบาลแล้ว อย่างไรก็ตามหลังการสังเคราะห์งานวิจัย พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะน่าจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ ได้แก่  ประชาชนในชุมชนต้นตาล ทั้งในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ จะสามารถการรำโทนรูปแบบใหม่เป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพ ในส่วนของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นต่อไป โดยผ่านกิจกรรมเสริมหลักสูตรโดยครูในสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนต้นตาล  กลุ่มบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในตำบลต้นตาล-พระยาทด จะสามารถนำการรำโทนรูปแบบใหม่มาส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชน
    สำหรับกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับชุมชนสามารถช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้เรียนได้เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ตามสภาพจริงในประเด็นอื่น ๆ  เช่น ภาวะสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และจะเป็นประโยชน์ต่อเทศบาลตำบลต้นตาล-พระยาทด และวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี นำศิลปะการรำโทนของชุมชนต้นตาลไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชน
2.    ประเด็นการวิจัยครั้งต่อไป คณะผู้สังเคราะห์งานวิจัยมีความเห็นว่าควรที่จะมีการต่อยอดองค์ความรู้ในเรื่องที่เน้นถึงภาวะสุขภาพ จึงควรมีการศึกษาผลของการรำโทนต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และการคลายเครียด โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงทดลองเพื่อประเมินประสิทธิผลของการรำโทนต่อสุขภาพต่อไป

การเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย

ความหมาย
                การเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย ในที่นี้หมายถึง การเตรียมความพร้อมของผู้วิจัยเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ทำแล้วเสร็จไปสู่เวทีวิชาการ 3 รูปแบบ คือ 1.การเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการพูด(Oral Presentation)  2.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์(Poster Presentation)  3.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง
1.การเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการพูด(Oral Presentation)
            เมื่อท่านทำวิจัย หรือมีผลงานวิจัยที่ทำแล้วเสร็จ ท่านควรหาเวทีไปนำเสนอผลงานได้ทั้งในและต่างประเทศโดยการเตรียมความพร้อม ดังนี้
1.ค้นหาแหล่ง/การจัดประชุมที่จะไปนำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น จากจดหมายประชาสัมพันธ์  การประชาสัมพันธ์ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์
2.สมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงาน โดยระบุวิธีการนำเสนอด้วยการพูด ศึกษาวิธีการลงทะเบียนให้ละเอียด เช่น ลงทะเบียนด้วยจดหมายราชการ โทรสาร ทาง e-mail การจ่ายค่าลงทะเบียน และต้องการให้ส่งเอกสารประกอบการสมัครอะไรบ้าง (ถ้าต่างประเทศให้ดูที่ Call for Abstract)
3.ติดตามผลการตอบรับให้ไปนำเสนอจากผู้จัด ระหว่างรอผลการตอบรับควรเตรียมเนื้อหาการนำเสนอไปพร้อมกันด้วย
4.เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ศึกษารายละเอียดของวิธีการนำเสนอให้ดี ผู้จัดจะแจ้งเวลาและขั้นตอนการนำเสนอมาให้ว่าใช้เวลาคนละกี่นาที ภาษาที่ใช้นำเสนอ สถานที่/ห้องประชุม สื่อประกอบการพูด เช่น power  point ผู้จัดให้นำสื่อไปเตรียมลงเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนเวลาพูดเมื่อไร ที่ใด เพื่อจะได้เตรียมตัวล่วงหน้าได้ทันตามกำหนดเวลา
5.ออกแบบและผลิตสื่อที่จะใช้ประกอบการพูด โดยกำหนดหัวข้อเรื่อง เนื้อหา รูปภาพ รูปกราฟ หรือ ตาราง เฉพาะที่มีความสำคัญ เหมาะสมกับเวลาที่จะนำเสนอ เช่น จำนวนกี่สไลด์ เลือกใช้ตัวอักษร สีตัวอักษรและสีพื้นสไลด์ที่เหมาะสม ดึงดูดความสนใจ  อ่านง่ายชัดเจน สบายตา มีใจความสำคัญที่ต้องการจะนำเสนอ ครบ  เข้าใจง่าย โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
6.เตรียมตัวเรื่องการพูด โดยซ้อมพูดล่วงหน้าให้ได้ทันตามกำหนดเวลา และเตรียมเรื่องภาษาที่ใช้พูด
7.ศึกษาเรื่องสถานที่จัดประชุม ที่พัก และการเดินทางล่วงหน้า เพื่อไปนำเสนอได้ทันกำหนดเวลา
8.จัดเตรียมงบประมาณในการเดินทาง / ที่พัก และหลักฐานการเบิกจ่ายตามระเบียบการเบิกจ่ายฯ

2.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์(Poster Presentation) 
1.ค้นหาแหล่ง/การจัดประชุมที่จะไปนำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น จากจดหมายประชาสัมพันธ์ หรือการประชาสัมพันธ์ทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
2.สมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงาน โดยระบุวิธีการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ ศึกษาวิธีการลงทะเบียนให้ละเอียด เช่น ลงทะเบียนด้วยจดหมายราชการ โทรสาร ทาง e-mail การจ่ายค่าลงทะเบียน และต้องการให้ส่งเอกสารอะไรประกอบการสมัครบ้าง (ถ้าต่างประเทศให้ดูที่ Call for Abstract)
3.ติดตามผลการตอบรับให้ไปนำเสนอจากผู้จัด ระหว่างรอผลการตอบรับควรเตรียมเนื้อหาสำหรับการนำเสนอไปพร้อมกันด้วย
4.เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ศึกษารายละเอียดของโปสเตอร์ให้ดี ผู้จัดจะแจ้งขนาดของโปสเตอร์มาว่าต้องเตรียมโปสเตอร์ขนาด กว้าง x ยาว เท่าไร ใช้ติดบนพื้นที่แบบใด ซึ่งมีความสำคัญมาก จะต้องทำขนาดให้ตรงตามขนาดที่แจ้งมา เพราะจะพอดีกับพื้นที่ที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ติดแสดงโปสเตอร์ มิฉะนั้นจะหาที่ติดโปสเตอร์ไม่ได้ รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์การติด เช่น ต้องเจาะมุมใส่ห่วง หรือติดด้วยเทปกาว หรือเตรียมที่แขวน ซึ่งจะต้องออกแบบให้เก็บโปสเตอร์ในการเดินทางได้สะดวกไม่ชำรุดง่าย ทั้งทางรถยนต์ ทางเครื่องบิน
5.ออกแบบโปสเตอร์ ต้องการให้มีอะไรบนโปสเตอร์บ้าง เช่น จำนวนหัวข้อเรื่อง จำนวนข้อความเนื้อหาใจความสำคัญที่ต้องการนำเสนอ จำนวนรูปภาพ รูปกราฟ หรือตาราง โดยเลือกเฉพาะที่มีความสำคัญ เหมาะสมกับขนาดของโปสเตอร์ เพื่อมิให้ตัวอักษรเล็กเกินไป ควรมีความเชื่อมโยงกัน และเลือกใช้สีที่เหมาะสมดึงดูดความสนใจโดดเด่น  อ่านได้ชัดเจน เข้าใจง่าย ภาษาที่ใช้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
6.เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม สวยงาม คงทน สะดวกในการพกพาเดินทางได้อย่างปลอดภัย ไม่ยับง่าย มีกล่องใส่ หรือมีปลอกหุ้มเวลาเดินทาง เช่น เป็นแบบ Out door หรือ In door
7.หาแหล่ง/ร้านรับจ้างทำโปสเตอร์ที่มีความสวยงามชัดเจน เสร็จทันตามกำหนดเวลา โดยสอบถามหาข้อมูลจากผู้ที่เคยจ้างทำ
8.จัดเตรียมงบประมาณในการทำโปสเตอร์ไว้ล่วงหน้า และขอใบเสร็จรับเงินตามระเบียบการเบิกพัสดุฯ
9.วางแผนเรื่องการอธิบาย หรือ ตอบคำถาม กรณีที่มีผู้ซักถาม
10.ศึกษาเรื่องเวลา และสถานที่ ที่ผู้จัดกำหนดให้ไปติดโปสเตอร์ล่วงหน้า รวมทั้งวางแผนการเดินทางและจองที่พักล่วงหน้า ถ้าเป็นต่างประเทศต้องเตรียมเรื่องหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน และภาษาที่ใช้สื่อสาร

3.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง
1.วางแผนเตรียมการเรื่องการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การวางแผนทำวิจัย และศึกษาข้อมูลว่ามีวารสารเล่มใดที่สนใจ เป็นวารสารที่ได้รับการรับรองในระดับใด ตรงตามเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่  หัวข้อเรื่องที่ทำวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยสอดคล้องกับแนวทางของวารสารที่ต้องการหรือไม่ การได้ลงตีพิมพ์ในวารสารจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร จะได้เตรียมการของบประมาณไว้ล่วงหน้า หรือต้องสมัครเป็นสมาชิกของวารสารเล่มนั้นติดต่อกันกี่ปี จะได้เตรียมการสมัครสมาชิกไว้ล่วงหน้า
                2.จัดเตรียมบทความต้นฉบับที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ โดยกำหนดหัวข้อเรื่อง และรายละเอียดของเนื้อหาว่าต้องการหัวข้อใดบ้าง ความยาวแต่ละหัวข้อมากน้อยเท่าไร รวมทั้งหมดไม่เกินกี่หน้า (โดยประมาณ 15-25 หน้า) ตามที่บรรณาธิการกำหนดแบบฟอร์ม และจำนวนหน้าไว้ ถ้าไม่ดำเนินการตามนั้น อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาเนื่องจากวารสารแต่ละเล่มจะวางโครงสร้างจำนวนเรื่องและจำนวนหน้าไว้แล้ว ถ้าขาดหรือเกินจะไม่มีพื้นที่ให้ตีพิมพ์
                3.เขียนบทความวิจัยตามหัวข้อและความยาวที่วางแผนไว้ โดยเขียนขึ้นใหม่ให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง และเน้นความสำคัญที่ต้องการเสนอให้ผู้อ่านทราบ ไม่ใช่การย่องานวิจัยเล่มใหญ่ทุกหัวข้อแบบสั้นๆ
                4.อ่านทบทวนตรวจสอบการสะกดถูกต้อง เนื้อหา ระเบียบวิธีวิจัย การเขียนอ้างอิง และบรรณานุกรมตามระบบที่วารสารกำหนด แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง
             5.ส่งบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ แล้วต้องติดตามผลกับทางบรรณาธิการเป็นระยะๆ ถ้ามีการแก้ไข ทางบรรณาธิการจะส่งต้นฉบับกลับมา ผู้เขียนควรรีบดำเนินการแก้ไข เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะขาดความต่อเนื่องและหลงลืมประเด็นได้ ถ้ามีข้อสงสัยควรติดต่อกลับไปถามหรือเจรจาต่อรองกับบรรณาธิการให้เข้าใจตรงกัน
                6.ส่งต้นฉบับบทความกลับไปที่บรรณาธิการเพื่อการตีพิมพ์ใหม่ แล้วติดตามเป็นระยะเช่นเดียวกับข้อ 5 ข้อสำคัญคือต้องจดจ่อ ไม่ย่อท้อ ให้กำลังใจตนเองจนกว่าจะทำได้สำเร็จและได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง

การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษาพยาบาล

ความหมาย
การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษาพยาบาล ในที่นี้ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนในรายวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ที่มีการสอนในเนื้อหาโดยตรงเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม หรือมีการสอดแทรกในรายวิชาโดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมทั้งจริยธรรมพื้นฐานทั่วไป และจริยธรรมในวิชาชีพการพยาบาล จากเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีแนวทางในการดำเนินการที่ดี ดังนี้
1. ต้องเริ่มตั้งแต่การวางแผนการสอน โดยการออกแบบการสอนในรายวิชาให้มีการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ หรือพัฒนาจริยธรรมนักศึกษาในประเด็นหรือหัวข้อใดให้ชัดเจน  และวางแผนการสอนรายบท ระบุพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง  มีรายละเอียดในเนื้อหาการสอน ระบุกิจกรรมการเรียนการสอน  และวิธีการประเมินผลอย่างชัดเจน
2. ดำเนินการสอนตามรายละเอียดเนื้อหาและกิจกรรมในแผนการสอนที่กำหนดไว้
3. สรุปและประเมินผลการเรียนการสอน  แยกตามหัวข้อคุณธรรมจริยธรรมที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ในแผนการสอน และรายงานผลการดำเนินงานรายวิชา
4.หัวข้อประเด็นคุณธรรมจริยธรรมที่นำมาพัฒนานักศึกษามาจาก
                  - TQF  ในหัวข้อคุณธรรมจริยธรรม
    - คุณลักษณะบัณฑิตของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี  เรื่อง  ความสุภาพ มีวินัย มีจิตอาสา และดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
   - เอกลักษณ์บัณฑิตในเรื่องการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์บนพื้นฐานความเอื้ออาทร
   - จริยธรรมวิชาชีพการพยาบาล และจรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาล
   - คุณธรรมจริยธรรมทั่วไปที่เป็นพื้นฐานของคนดี
 5. กิจกรรมการเรียนการสอนที่นำมาใช้พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษา
    ภาคทฤษฎี
     - การบรรยายเนื้อหาตามหลักการหรือทฤษฎี
     - การมอบหมายให้ศึกษาค้นคว้าทำรายงานตามหัวข้อที่กำหนด และนำเสนอรายงาน
     - การวิเคราะห์อภิปรายสถานการณ์ หรือกรณีตัวอย่าง/กรณีศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นจริยธรรม โดยให้ระบุประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง และใช้หลักการหรือทฤษฎีจริยศาสตร์มาอธิบาย หรือตัดสินใจแก้ปัญหา
    - ให้นักศึกษาเขียนเล่าเรื่องประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นจริยธรรม และแสดงความคิดเห็น
    - ปฐมนิเทศให้นักศึกษาเข้าใจว่าต้องแสดงพฤติกรรมจริยธรรมเรื่องใดบ้าง เช่น การแต่งกาย กริยามารยาท ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา การแสดงท่าที การใช้คำพูด เป็นต้น
   - บูรณาการกับงานกิจกรรมนักศึกษา/งานพัฒนานักศึกษา โดยการจัดทำโครงการพัฒนาพฤติกรรมจริยธรรมนักศึกษาให้มีคุณลักษณะบัณฑิตของวิทยาลัย  โครงการจิตอาสา เป็นต้น
   - การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา เช่น ให้นักศึกษานำมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการเรียน  นำมาใช้พิจารณาการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยกรณีศึกษาให้สอดคล้องตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    ภาคปฏิบัติ
    - ให้นักศึกษาเขียนเล่าประสบการณ์และความคิดเห็นประจำวันตามหัวข้อที่กำหนด (Journal Writing) ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาล อาจารย์ให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ(Feed back)  และให้เพื่อนร่วมแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็น
    - ประชุมปรึกษาก่อน และหลังการฝึกปฏิบัติการพยาบาลประจำวัน โดยมีการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น/ปัญหาจริยธรรมทางการพยาบาล ให้แสดงความรู้สึก และอภิปรายผลกระทบและแนวทางการแก้ปัญหา
    - ประชุมปรึกษากรณีศึกษาทางการพยาบาล( Case Conference) โดยกำหนดหัวข้อประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยกรณีศึกษา
   - การทำรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วย( Case Study) โดยกำหนดหัวข้อรายงานให้มีประเด็นด้านจริยธรรมทางการพยาบาล และแนวทางการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจริยธรรมทางการพยาบาล
  - สอดแทรกในกระบวนการพยาบาล โดยระบุหลักจริยธรรมที่นำมาใช้ เช่น ในขั้นการประเมินสภาพผู้ป่วย การรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์หรือการตรวจร่างกาย ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านของผู้ป่วย  ความพร้อมและการยินยอมของผู้ป่วย มิใช่มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ของนักศึกษาให้ได้ข้อมูลมาทำรายงานเพียงอย่างเดียว ท่าทีและการใช้คำถามที่เหมาะสมคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ป่วย
  - ปฐมนิเทศให้นักศึกษาเข้าใจว่าต้องแสดงพฤติกรรมจริยธรรมเรื่องใดบ้าง เช่น การแต่งกาย กริยามารยาท ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา การแสดงท่าที การใช้คำพูด เป็นต้น
     - การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา เช่น ให้นักศึกษา นำมาใช้พิจารณาการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยในความดูแล การทำกิจกรรมการพยาบาล การให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ  การทำรายงาน/ประชุมปรึกษาในผู้ป่วยที่เลือกศึกษา ให้สอดคล้องตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต การพยาบาลครอบครัวและชุมชน
    - การเป็นแบบอย่างในการแสดงพฤติกรรมจริยธรรม และการพยาบาลแบบเอื้ออาทร เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  คำนึงถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ ของอาจารย์พยาบาล
  6. การประเมินผล 
      ให้ระบุวิธีการประเมินผลและเครื่องมือที่ใช้ประเมินผลไว้ในการออกแบบการสอน และในแผนการสอนรายบท  เช่น  การสอบวัดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา  การสังเกตพฤติกรรมการแสดงออก  การใช้แบบประเมินพฤติกรรมด้านต่างๆ  การกำหนดรายละเอียดหัวข้อการประเมิน/ให้คะแนน  การใช้แบบประเมินการทำรายงาน การนำเสนอรายงาน แบบประเมินการประชุมปรึกษา แบบประเมินการปฏิบัติการพยาบาล แบบประเมินการเขียน Journal Writing  แบบประเมินเจตคติ  แบบประเมินการทำงานกลุ่ม  เป็นต้น