วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
ถอดบทเรียนจากการประชุมเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
แนวปฏิบัติที่ดี เรื่อง การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
……………………………………
ที่มาของแนวปฏิบัติที่ดี    จากการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ปีการศึกษา 2554 มีความเป็นมาจากการพัฒนาอัตลักษณ์ของสถาบันให้มีการผลิตบัณฑิตที่มีอัตลักษณ์ของวิทยาลัยที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข โดยมีประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลายรูปแบบ เช่น เชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์จากภายนอกมาบรรยายและรวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสรุปแนวคิดของวิทยาลัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยาลัยอื่น มีการนำความรู้จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการทำวิจัยในชั้นเรียน
          จากแนวคิดสาธารณสุขแนวใหม่  การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เป็นการบริการด้วยความเมตตา เอื้ออาทร และดูแลผู้รับบริการทั้ง 4 มิติ ที่ครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเพิ่มเรื่องความเข้าใจผู้อื่น โดยคำนึงถึงผู้รับบริการหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้บริการที่มีความยืดหยุ่น เน้นการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม และพัฒนาศักยภาพของคนให้พึ่งพาตนเองได้
          การเข้าใจผู้อื่น คือ การพัฒนากระบวนทัศน์และปรับกระบวนทัศน์ ในการศึกษาจากสภาพจริง มองความเป็นจริง ผลลัพธ์ คือ การเข้าใจชีวิต และการเรียนรู้จากภายใน  
          ทิศทางการศึกษา เน้นการเรียนรู้ให้เข้าใจชีวิตและสังคมตามความจริง  สอนแบบบูรณาการระหว่างการเรียนความรู้สำเร็จรูป(เรียนจากความรู้ที่มีอยู่ตามตำราหรือทฤษฎีทาง กับ การเรียนความรู้ในสภาพจริง(เรียนโดยการไปดูของจริง คิดวิจารณญาณ เข้าใจชีวิตและบริบทจริง) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต มุมมองการดูแลสุขภาพของชาวบ้าน เป็นการสอนที่ผสมผสานความรู้ทางวิชาชีพและการเข้าใจสภาพความจริงจนสามารถประยุกต์การบริการให้เหมาะสมกับบุคคล ครอบครัว และชุมชนได้
          กระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่เน้นหัวใจความเป็นมนุษย์  มีบันได 3 ขั้น ได้แก่
          1.กระบวนการปรับทัศนคติต่อการเรียนรู้ความจริง
          2.กระบวนการศึกษาความจริงด้วยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
          3.กระบวนการสรุปวิเคราะห์และชี้ประเด็นของครู
          ผลที่ต้องการ ต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจผู้อื่น ไม่ใช้กฎเกณฑ์ของตนเองไปตัดสินผู้อื่น เข้าใจความจริงของชีวิตในสังคม สามารถนำความรู้ไปประยุกต์และถ่ายทอด สนับสนุนให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพตนเอง  ครูเป็นหัวใจของความสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์การสอนขึ้นกับศักยภาพครู โดยเรียนรู้ไปพร้อมกัน ครูทำหน้าที่ปรับความคิดนักศึกษา
         บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ หมายถึง การให้บริการที่เป็นมิตร มีความรัก ความเมตตา ใส่ใจในปัญหาและความทุกข์ของผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้อง ให้บริการตามปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการที่เป็นจริง โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการเป็นหลัก เรียกย่อๆว่า SAP
          Service mind คือ การมีจิตบริการที่เป็นมิตร มีความรัก ความเมตตา ใส่ใจในปัญหาและความทุกข์ของผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้อง โดย ไม่ตัดสินพฤติกรรมคนอื่นด้วยความคิดของตนเอง เข้าใจและเห็นใจผู้อื่นให้บริการตรงตามปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการ
          Analytical thinking คือ การคิดบนฐานข้อมูลจริง วิเคราะห์และวางแผนแก้ปัญหาได้ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากสภาพความเป็นจริงอย่างเป็นระบบ  วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้รับบริการ วางแผนแก้ปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับบริบทชีวิตจริงโดยประยุกต์ความรู้วิชาการ
          Participation / Patient center คือ วิธีการทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ให้เขารับรู้ ตัดสินใจช่วยตนเองได้
ความหมายและขอบเขต  การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ จากการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวิทยาลัย มีการสรุปเป็นความคิดรวบยอด ดังนี้
          วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี มีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องตามแนวคิดที่เน้นการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มาโดยตลอด คือ เน้นความมีเมตตา กรุณา เห็นอกเห็นใจ และเอื้ออาทรต่อผู้ป่วย รักษาจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ปฏิบัติตามกฎหมายวิชาชีพ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการคิดอย่างมีเหตุผล มีคุณธรรม มีความรู้ ประยุกต์ใช้สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองได้ โดยพึ่งพาตนเองและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาล
          ดังนั้นอัตลักษณ์ของวิทยาลัยจึงสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของสบช.ที่เน้นการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ด้วยหลักการ SAP สำหรับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี มีอัตลักษณ์ที่เพิ่มขึ้น เป็น SAeP คือ การบริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ภายใต้การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence – based Human Caring)
          SAeP มีจุดมุ่งหมายให้นักศึกษา มีจิตบริการ(Service mind) คือ มีจิตอาสาให้บริการด้วยความเอื้ออาทร สามารถคิดวิเคราะห์ (Analytical) คือ มีเหตุมีผล มีวิจารณญาณ ภายใต้การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) และให้บริการแบบมีส่วนร่วม(Participation) คือ ให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนเพื่อเสริมสร้างพลังความสามารถของผู้รับบริการให้สามารถดูแลตนเองได้
          ผู้รับบริการ  จึงมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณ ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่ป้องกันได้
          สามารถนำไปจัดการจัดการเรียนการสอน ได้ในรายวิชาการพยาบาลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งรายวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
วิธีการดำเนินการ
          วิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี จากการถอดบทเรียนเล่าประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนและการประเมินผล พบว่ามีการสอนหลากหลายวิธีหรือรูปแบบที่จัดว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดี และสอดคล้องกับแนวคิด SAeP  สรุปได้ ดังนี้
             1.ฝึกทักษะด้านการคิดและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ให้นักศึกษาในการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ
           2.ฝึกให้นักศึกษาทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการด้วยความเต็มใจ โดยปลูกฝังตั้งแต่ชั้นปีต้นๆ เช่น ชั้นปีที่ 1 ในรายวิชาศึกษาทั่วไปฯบูรณาการกับวิชาสังคมวิทยาฯ
      3.ระบุวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนในด้านการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ไว้ในรายวิชา เนื้อหา วิธีการสอน และการประเมินผล ในคู่มือ มคอ.3,4 และแผนการสอน
           4.มีการปฐมนิเทศให้นักศึกษาเข้าใจความหมายของแนวคิดการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ภายใต้การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (SAeP) ก่อนการเรียนและฝึกปฏิบัติงานรายวิชา
           5.ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลส่วนใหญ่เช่นวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 1,2,3 เลือกใช้วิธีการให้นักศึกษาเขียน Journal writing สะท้อนความรู้สึก ความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่นักศึกษาพบเห็นจากการฝึกปฏิบัติ อาจารย์อ่านและให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) ให้นักศึกษารับทราบ ทำให้เกิดการรับรู้และเข้าใจความรู้สึก ความคิดเห็นและสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้ และให้นักศึกษาในกลุ่มได้เรียนรู้ร่วมกันจากกิจกรรมการประชุมปรึกษาหลังการปฏิบัติงานประจำวัน(post conference) หรือในการประชุมปรึกษาทางการพยาบาล(case conference)
           6.อาจารย์ปฏิบัติเป็นต้นแบบ(role model) ให้นักศึกษาเห็น เช่น ให้เวลารับฟังผู้ป่วย รับฟังนักศึกษา ด้วยความเข้าใจไม่ตัดสินไปก่อน ครูต้องฝึกเทคนิคการฟังอย่างตั้งใจ(Deep listening) และให้เวลานักศึกษา มองปัญหาแบบองค์รวม ส่งเสริมการปรับตัวของผู้ป่วย และครอบครัว
          7.อาจารย์ใช้วิธีตั้งคำถามเชิงลึกแก่นักศึกษาให้ใส่ใจต่อปัญหาของผู้ป่วยทั้งปัญหาในชีวิตและปัญหาสุขภาพ เช่น ถามว่า ใครเป็นคนตัดสินว่ามีปัญหา ใครเป็นคนต้องการ ใครเป็นคนเลือกวิธีการแก้ปัญหา เป็นต้น
         8.อาจารย์เป็นผู้สะท้อนให้นักศึกษาได้คิด เห็นความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละบุคคลตามบริบทแวดล้อม และปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งปัจจัยที่มาสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการดูแลผู้ป่วย โดยให้เรียนรู้จากวิถีชีวิตจริงของผู้ป่วย ผ่านกิจกรรมการประชุมปรึกษาทางการพยาบาล (case conference) หรือกรณีศึกษา
         9.อาจารย์สอนโดยสอดแทรกไว้ในการสอนภาคปฏิบัติการพยาบาลเรื่องต่างๆ การประชุมปรึกษาทางการพยาบาล และการศึกษากรณีศึกษาผู้ป่วย เพื่อพัฒนาความสามารถของนักศึกษาในการเข้าใจปัญหาความต้องการของผู้ป่วยตามบริบทและเงื่อนไขในชีวิตของผู้รับบริการที่แตกต่างกัน เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิต บูรณาการความรู้ตามทฤษฎีกับความรู้จากชีวิตจริงในการแก้ปัญหาสุขภาพ
         10. ในขั้นตอนการประเมินปัญหาความต้องการของผู้ป่วย เริ่มจากการพูดคุยสร้างสัมพันธภาพกับกลุ่มเป้าหมายโดยยังไม่ต้องยึดกรอบอะไร ให้กลุ่มเป้าหมายได้เล่าประวัติชีวิต หรือระบายความรู้สึก ใช้เทคนิคการสนทนาและรับฟังอย่างตั้งใจ  ด้วยความเข้าใจและเข้าถึง  ไวต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ป่วยจากคำบอกเล่าของผู้ป่วย
              จากผลการวิจัยในชั้นเรียนวิชาปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยของดร.ทัศนีย์ เกริกกุลธร พบว่าควรเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายหรือผู้ป่วยมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การระบุปัญหาและวางแผนแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งอาจารย์ใช้วิธีการสะท้อนคิดให้กับนักศึกษาได้ในกิจกรรมการประชุมก่อนและหลังปฏิบัติงาน (Pre-Post conference) โดยใช้วิธีการตั้งคำถามให้นักศึกษาคิด เช่น ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนบอก หรือใครเป็นคนวางแผน ผู้รับบริการต้องการอะไร ถ้ากลุ่มเป้าหมายยังไม่ยอมรับต้องค้างไว้ตรงนั้น ผลการประเมินพบว่านักศึกษาเกิดความเข้าใจผู้รับบริการมากขึ้นและเกิดพฤติกรรมการบริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น แต่ยังขาดทักษะเรื่องการถาม และการไวต่อคำบอกเล่าของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจารย์ต้องช่วยฝึกทักษะให้นักศึกษา
         11.ในวิชาการพยาบาลจิตเวช นำมาใช้ผ่านกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยรายบุคคล มุ่งเน้นให้นักศึกษาเข้าใจ เข้าถึง ไวต่อความรู้สึก อารมณ์ ของผู้ป่วย สื่อสารกับผู้ป่วยอย่างเป็นมิตร มีจิตบริการ คิดวิเคราะห์สร้างสรรค์กิจกรรม เช่น กิจกรรมสายธารชีวิต ทำความเข้าใจการเล่าประวัติชีวิต ทำma pping  วาดรูป
        12.ในรายวิชาการพยาบาลครอบครัวและชุมชน วิเคราะห์ประเด็นการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์โดย Service mind เน้นการมองเห็นปัญหาหรือทุกข์ของครอบครัว ความเห็นอกเห็นใจ และเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ สิ่งของ ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ ไม่หวังผลตอบแทน Analytical thinking มีความช่างสังเกต ซักถาม สืบค้นความจริง ไม่ด่วนแก้ปัญหา จัดหมวดหมู่ และแปลความจริงที่ปรากฏ  Patient Right / Participation  ให้ผู้รับบริการทราบข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนตัดสินใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล มิใช้เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว 
        13.การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการภายใต้ครอบครัวเสมือน ตามต้นแบบวพบ.ขอนแก่น อาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และชุมชน มีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้ระบบครอบครัวเสมือน       

                 แผนภูมิการจัดการเรียนการสอนการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
 
       




         ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
          1.มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ร่วมคิดร่วมทำโดยร่วมมือกันทุกกลุ่มภารกิจ กำหนดกรอบแนวคิดของวิทยาลัย SAeP  การบริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ภายใต้การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์
          2.การสนับสนุนจากผู้บริหารเป็นอย่างดีในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง และร่วมคิดให้ข้อเสนอแนะในที่ประชุม
          3.มีการเตรียมความพร้อมให้อาจารย์และนักศึกษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจการสาธารณสุขแนวใหม่ การปรับกระบวนทัศน์ในการคิดให้เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ตามสภาพความเป็นจริง การสอนแนวใหม่แบบบูรณาการความรู้กับความเป็นจริง
          4.มีการสนับสนุนเตรียมความพร้อมให้อาจารย์และนักศึกษาเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น การเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยการจัดประชุมอบรม เช่น ทักษะการตั้งคำถาม สุนทรียสนทนา การรับฟังอย่างตั้งใจ จิตอาสา จิตบริการ การศึกษาดูงาน
         5.มีการจัดการความรู้ โดยจัดให้อาจารย์นำประสบการณ์มาเล่าและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวิทยาลัย โดยเชิญผู้มีประสบการณ์ความรู้จากภายในและภายนอกมาเล่าสู่กันฟัง มีการถอดบทเรียนและนำความรู้ไปทดลองปฏิบัติ  แล้วนำกลับมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และสรุปเป็นแนวปฏิบัติที่ดี








                                                                                      สรุปโดยนางสาวบุบผา ดำรงกิตติกุล
                                                                                                    งานจัดการความรู้
                                                                                     วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี

 


                                                                                  

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
ถอดบทเรียนจากการประชุมเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
แนวปฏิบัติที่ดี เรื่อง การเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย
……………………………………
ที่มาของแนวปฏิบัติที่ดี    จากการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการเตรียมเพื่อการนำเสนอผลงานวิจัย ปีการศึกษา 2553-2554 มีการนำเสนอประสบการณ์จากผู้รู้ ผู้ที่มีประสบการณ์เรื่องการเผยแพร่ผลงานวิจัย มีการสรุปความรู้ และนำความรู้ที่ได้จากการประชุมไปใช้ แล้วนำประสบการณ์จากการนำความรู้ไปใช้กลับมาเล่าในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อที่ประชุมเป็นระยะๆ จากผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พบว่าสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยได้สะดวก รวดเร็วขึ้น ต่อยอดการทำงานได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากความไม่รู้ และได้รับการตอบรับให้ลงตีพิมพ์บทความในวารสารได้เร็วขึ้น ผู้วิจัยมีความสุขในการทำงานมากขึ้น จึงสรุปถอดบทเรียนความรู้จากเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นแนวปฏิบัติที่ดีได้ ดังนี้
ความหมายและขอบเขต  การเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย หมายถึง การเตรียมตัวหรือเตรียมความพร้อมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย ในที่นี้แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) การนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมเวทีวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ  2) โปสเตอร์แสดงผลงานวิจัยในการประชุมเวทีวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ  3) การตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ
วิธีการดำเนินการ
          1.การนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมเวทีวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
   1.1 สมัครไปนำเสนอผลงานวิจัย  โดยส่งบทคัดย่องานวิจัยไปประกอบการพิจารณาด้วย  หาข้อมูลได้จากกลุ่มภารกิจด้านวิจัย การประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางเอกสาร จดหมายราชการ หรือทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
   1.2 ติดตามผลการแจ้งตอบรับให้ไปนำเสนอผลงานวิจัย และรายละเอียดข้อมูลประกอบการนำเสนอ เช่น วันเวลาให้ไปนำเสนอ สถานที่ ภาษาที่ใช้ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อผู้รับผิดชอบ เป็นต้น
   1.3 ทำเรื่องขออนุมัติการไปนำเสนอผลงานวิจัยตามระเบียบราชการ เมื่อได้รับการตอบรับแล้วให้นำหลักฐานการตอบรับมาทำเรื่องขออนุมัติการเดินทางและงบประมาณค่าใช้จ่าย ค่าลงทะเบียน
   1.4 ลงทะเบียนสมัครไปนำเสนอผลงานวิจัย เมื่อได้รับการอนุมัติตามข้อ 1.3 แล้วจึงสมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงานวิจัย เนื่องจากต้องขออนุมัติการเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบราชการก่อน
   1.5 เตรียมต้นฉบับผลงานวิจัย หรือ Proceeding และสื่อpower point ประกอบการนำเสนอ ซึ่งสามารถเตรียมไว้ล่วงหน้าระหว่างรอการตอบรับเพื่อให้มีเวลาดำเนินการ และต้องตรวจสอบความถูกต้องให้มากที่สุดเพราะเมื่อส่งไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องความถูกต้องของการสะกดคำ การใช้ format ตามรูปแบบที่ผู้จัดกำหนด ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ควรแปลโดยมืออาชีพ (มีผู้รับจ้างแปล ประมาณหน้าละ 500 บาท หรืออาจคิดเป็นห้าพันคำ/หกพันคำ ควรจ้างแบบรวมค่าทำสื่อสไลด์ประกอบการนำเสนอพร้อมกัน)
  1.6 เตรียมสื่อสไลด์นำเสนอ ควรเตรียมให้สอดคล้องกับเวทีที่สมัครไปนำเสนอ ขนาดห้องประชุม จำนวนผู้ฟัง ภาษา และกำหนดเวลา บนสไลด์ควรมีโลโกของวิทยาลัยเพื่อให้เป็นมาตรฐาน ตัวอักษรควรมีขนาดที่ชัดเจน  มีสีสันดึงดูดความสนใจและดูสบายตา มีตัวเลขสถิติ รูปภาพ รูปกราฟ หรือแผนภูมิประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ  อาจให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบความถูกต้องของภาษาและเนื้อหาก่อนไปนำเสนอ ซึ่งต้องมีเวลาและค่าใช้จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญด้วย จึงต้องวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่ทำวิจัย  ถ้าเป็นวีดีทัศน์ควรตรวจสอบเสียงและบริหารความเสี่ยงในเรื่องระบบการเปิดที่เวทีนำเสนอ และควรซ้อมวิธีการเปิดให้คล่องก่อนเดินทาง และมีไฟล์สำรองแยกไปด้วย ภาพประกอบควรให้มีชีวิตชีวาเป็นภาพเคลื่อนไหวจะดีกว่า แต่จะเปิดได้ยากกว่า
  1.7 เตรียมฝึกซ้อมการพูด โดยเฉพาะถ้าเป็นเวทีนานาชาติ แต่ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากเพราะผู้ฟังจะเข้าใจในความแตกต่างด้านเชื้อชาติภาษา
  1.8 เตรียมความพร้อมส่วนบุคคล ในเรื่องการเดินทาง การจองที่พัก เสื้อผ้าการแต่งกาย แผนที่ ยารักษาโรค ของใช้ส่วนตัว กล้องถ่ายรูป การนัดหมาย  และอื่นๆตามความจำเป็น
              2. การนำเสนอโปสเตอร์ผลงานวิจัยในการประชุมเวทีวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
       2.1 สมัครไปนำเสนอผลงานวิจัย  โดยส่งบทคัดย่องานวิจัยไปประกอบการพิจารณาด้วย  หาข้อมูลได้จากกลุ่มภารกิจด้านวิจัย การประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางเอกสาร จดหมายราชการ หรือทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
       2.2 ติดตามผลการแจ้งตอบรับให้ไปนำเสนอผลงานวิจัย และรายละเอียดข้อมูลประกอบการนำเสนอ เช่น วันเวลาให้ไปนำเสนอ สถานที่ ขนาดของโปสเตอร์ ประเภทของโปสเตอร์เป็นชนิดติดผนัง หรือ ชนิดแขวนซึ่งต้องเตรียมทำไปให้ถูกต้องตรงตามที่กำหนดมิฉะนั้นจะหาที่ติดแสดงโปสเตอร์ไม่ได้ ภาษาที่ใช้ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อผู้รับผิดชอบ เป็นต้น
       2.3 ทำเรื่องขออนุมัติการไปนำเสนอผลงานวิจัยตามระเบียบราชการ เมื่อได้รับการตอบรับแล้วให้นำหลักฐานการตอบรับมาทำเรื่องขออนุมัติการเดินทางและงบประมาณค่าใช้จ่าย ค่าลงทะเบียน
       2.4 ลงทะเบียนสมัครไปนำเสนอผลงานวิจัย เมื่อได้รับการอนุมัติตามข้อ 2.3 แล้วจึงสมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงานวิจัย เนื่องจากต้องขออนุมัติการเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบราชการก่อน
       2.5 เตรียมต้นฉบับผลงานวิจัย หรือ Proceeding และสื่อpower point ประกอบการนำเสนอ ซึ่งสามารถเตรียมไว้ล่วงหน้าระหว่างรอการตอบรับเพื่อให้มีเวลาดำเนินการ และต้องตรวจสอบความถูกต้องให้มากที่สุดเพราะเมื่อส่งไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องความถูกต้องของการสะกดคำ การใช้ format ตามรูปแบบที่ผู้จัดกำหนด ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ควรแปลโดยมืออาชีพ
      2.6 เตรียมโปสเตอร์ที่จะไปนำเสนอ รูปแบบของโปสเตอร์ที่เตรียมไปนำเสนอ ต้องมีขนาด(กว้างxยาวxสูง) และรูปแบบ ตรงตามที่ผู้จัดกำหนด มิฉะนั้นจะติดแสดงไม่ได้ และต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับติดตั้งไปให้พร้อมด้วย รวมทั้งออกแบบให้สะดวกในการเดินทางโดยเฉพาะทางเครื่องบินและวัสดุไม่ยับงาย
          การออกแบบโปสเตอร์ควรให้มีสีสันดึงดูดความสนใจและดูสบายตา ขนาดตัวอักษรเห็นชัดเจน  เนื้อหาข้อมูลควรแยกข้อมูลเป็นกลุ่มหรือบล็อกให้ชัดเจน และมีตัวเลขสถิติ รูปภาพ รูปกราฟ หรือแผนภูมิประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ มีโลโกของวิทยาลัยและชื่อที่อยู่ให้ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้  การออกแบบโปสเตอร์นี้อาจให้ช่างทำโปสเตอร์ช่วยออกแบบให้โดยเจ้าของงานวิจัยต้องเตรียมข้อมูลเนื้อหาทั้งหมดใส่ไฟล์ไปให้ในรูปของ power point ควรตรวจสอบภาษาและการสะกดคำให้ถูกต้อง และต้องพูดคุยกับช่างทำโปสเตอร์ให้เข้าใจ ให้เวลาทำและนัดหมายกำหนดส่งมอบงานให้ชัดเจน และมีค่าใช้จ่าย(ประมาณตารางเมตรละประมาณ 400 บาทขึ้นไป)
     2.7 เตรียมฝึกซ้อมการพูด โดยเฉพาะถ้าเป็นเวทีนานาชาติ ถ้ามีผู้ชมโปสเตอร์สอบถามข้อมูล
    2.8 เตรียมความพร้อมส่วนบุคคล ในเรื่องการเดินทาง การจองที่พัก เสื้อผ้าการแต่งกาย แผนที่ ยารักษาโรค ของใช้ส่วนตัว กล้องถ่ายรูป การนัดหมาย  และอื่นๆตามความจำเป็น
         

          3. การตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับชาติ และนานาชาติ
    3.1 วางแผนเตรียมการเรื่องการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสาร
           ควรวางแผนเรื่องการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การทำโครงร่างงานวิจัยขอทุนเนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการลงตีพิมพ์ บางวารสารต้องสมัครเป็นสมาชิกติดต่อกัน 2-3 ปีจึงจะได้รับการพิจารณารับตีพิมพ์ และต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวารสารที่สนใจว่าสอดคล้องกับปัญหาการวิจัยหรือไม่ วารสารที่จะเลือกตีพิมพ์ควรเป็นวารสารที่ได้รับการรับรองในระดับชาติ และมีค่าคะแนน Impact facter สูงๆ หรือได้รับการรับรองจากสมศ.ตามเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา (สามารถหาข้อมูลรายชื่อวารสารและรายละเอียดข้อกำหนดได้ที่กลุ่มงานวิจัยหรือสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซด์ของวารสารได้)
              3.2 เตรียมต้นฉบับบทความวิจัยที่จะตีพิมพ์เผยแพร่
                 ควรกำหนดกรอบหรือโครงเรื่อง(แผนที่การเขียนบทความ)ไว้ก่อนว่าต้องการหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง และขอบเขตของเนื้อหาแต่ละหัวข้อเรื่อง ความยาวของแต่ละหัวข้อมากน้อยเท่าไร รวมทั้งหมดไม่เกินกี่หน้า (โดยประมาณ 15-25 หน้า) ตามที่บรรณาธิการวารสารกำหนดแบบฟอร์มไว้ ถ้าไม่ดำเนินการตามนั้นอาจจะไม่ได้รับการพิจารณารับตีพิมพ์ มีข้อเสนอแนะจากผู้มีประสบการณ์ว่าถ้าได้อ่านบทความวิจัยในวารสารที่จะลงตีพิมพ์เป็นตัวอย่างก่อน จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและเตรียมต้นฉบับได้ง่ายขึ้น
               จากนั้นจึงลงมือเขียนบทความวิจัยตามกรอบหัวข้อเรื่องและความยาวที่วางแผนไว้ โดยเขียนขึ้นใหม่ให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง และเน้นความสำคัญที่ต้องการเสนอให้ผู้อ่านทราบ ไม่ใช่การย่อวิจัยเล่มใหญ่มาทุกหัวข้อแบบสั้นๆ การอ้างอิงต้องให้ถูกต้องตามระบบที่วารสารกำหนด ควรเก็บเอกสารต้นฉบับและเอกสารอ้างอิงไว้ก่อนโดยคั่นหน้าไว้หรือใส่ดัชนีไว้ให้ชัดเจนถ้ามีการแก้ไขจะได้ทำได้ง่ายและรวดเร็ว การพิมพ์แก้ไขควรบันทึกในไฟล์ใหม่ไม่ควรบันทึกซ้อนไฟล์เดิม เพราะบางครั้งอาจต้องแก้ไขกลับมาใช้แบบเดิม
             3.3 ตรวจสอบความถูกต้องเชื่อมโยงของเนื้อหา การสะกดคำ ระเบียบวิธีวิจัย การเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมตามระบบที่วารสารกำหนด แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง
              3.4 ส่งบทความไปให้บรรณาธิการวารสารพิจารณารับตีพิมพ์ ควรติดตามผลกับบรรณาธิการเป็นระยะๆ ถ้ามีการแก้ไขบรรณาธิการจะส่งต้นฉบับกลับมา ผู้เขียนควรทำความเข้าใจและรีบดำเนินการแก้ไข เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะขาดความต่อเนื่องและหลงลืมประเด็นได้ ถ้ามีข้อสงสัยควรติดต่อกลับไปถามหรือเจรจาต่อรองกับบรรณาธิการให้เข้าใจตรงกัน
             3.5 แก้ไขและส่งต้นฉบับบทความกลับไปให้บรรณาธิการเพื่อการตีพิมพ์ใหม่ แล้วติดตามเป็นระยะเช่นเดียวกับข้อ 3.4 ข้อสำคัญคือต้องจดจ่อ ไม่ย่อท้อ ให้กำลังใจตนเองจนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ


ปัจจัยแห่งความสำเร็จ สรุปความคิดเห็นจากเวทีประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดังนี้
 1. จากการจัดการความรู้เรื่องการเผยแพร่ผลงานวิจัย และการนำไปปฏิบัติจริง ผู้ที่มีประสบการณ์ยินดีเล่าสู่กันฟัง เมื่อมีผู้นำไปปฏิบัติแล้วจัดให้มีการนำประสบการณ์กลับมาเล่าในเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ได้ข้อมูลความรู้และข้อเสนอแนะเพิ่มขึ้น สรุปเป็นแนวปฏิบัติที่ดีเรื่องการเผยแพร่ผลงานวิจัย
 2. วิทยาลัยมีระบบสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ดีจากผู้บริหารและกลุ่มภารกิจด้านการวิจัย ทั้งในด้านงบประมาณ ข้อมูลความรู้ ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการติดต่อประสาน งาน มีการให้รางวัลสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้วิจัยเผยแพร่ผลงานวิจัยต่อไป
 3. ผู้ทำวิจัยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการให้สำเร็จ



                                                                                             สรุปโดยนางสาวบุบผา ดำรงกิตติกุล
                                                                                                           งานจัดการความรู้
                                                                                            วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี