วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักจริยศาสตร์ทางการพยาบาล

 

การจัดการเรียนการสอน โดยใช้จริยศาสตร์  : ดร.พนมพร กีรติตานนท์

               การศึกษาจริยศาสตร์ เป็นการศึกษาที่ช่วยให้พยาบาลมีความไวต่อปัญหาจริยธรรม รู้จักคิดไตร่ตรอง มีทักษะด้านความคิดทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น รู้และเข้าใจคุณค่าและความเชื่อของตนเองและบุลคลอื่น และช่วยเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจเชิงจริยธรรมแก่พยาบาลในการปฏิบัติงาน ช่วยในการวิเคราะห์แยกแยะประเด็นปัญหา อันนำไปสู่การวิพากษ์ ตัดสิน อย่างมีหลักการในการแก้ปัญหาของผู้ป่วยแต่ละกรณี อย่างเหมาะสมต่อความเป็นจริง และยังเป็นเหมือนภูมิต้านทานตลอดชีวิต (Long life immunity) ทำให้พยาบาลไม่เกิดความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่ายเมื่อประสบปัญหา และไม่เกิดภาวะคับข้องใจและบีบคั้นทางอารมณ์ (burnout) สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

                หลักจริยธรรมของวิชาชีพพยาบาล (Ethical principles) มี 6 ประการ ดังนี้

                1.การเคารพเอกสิทธิ์/ความเป็นอิสระ (respect for autonomy) หมายถึง การให้ความเคารพในคุณค่า ความเชื่อ และการตัดสินใจของบุคคล ด้วยความตั้งใจและไม่มีอิทธิพลใดมาควบคุม ปราศจากการจูงใจ โน้มน้าวให้เชื่อ หรือกดดันให้ยอมตาม ให้โอกาสตัดสินใจอย่างอิสระ ทำตามความต้องการของตนเอง เพื่อประโยชน์สูงสุดโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือเป็นอันตราย มีความเท่าเทียม ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ดังนั้นพยาบาล ควรเคารพความเป็นอิสระในการตัดสินใจของผู้ป่วยและผู้รับบริการหลักจริยธรรมข้อนี้  นำไปสู่การให้การยินยอมเมื่อได้รับการบอกกล่าว (informed consent) กล่าวคือ

                การส่งเสริมพฤติกรรมของนักศึกษาที่แสดงถึงการให้อิสระ ให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ เคารพ

การตัดสินใจของผู้ป่วย เช่น
                - แนะนำตัวก่อนให้การพยาบาล
                - ขออนุญาตผู้ป่วยและให้คำอธิบายก่อนทำกิจกรรมการพยาบาล ไม่ว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวหรือไม่
                - ให้ข้อมูลที่เพียงพอ เป็นจริงก่อนให้ผู้ป่วยตัดสินใจยอมรับ/ปฏิเสธการรักษา
                อาจารย์สามารถเลือกสถานการณ์ที่สะท้อนถึง โอกาสที่ผู้ป่วยถูกละเมิดเอกสิทธิ์ เพื่อให้นักศึกษาร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรม และฝึกการตัดสินใจเชิงจริยธรรม เช่น ผู้ป่วย/ครอบครัวต้องการปฏิเสธการรักษา การใส่ท่อช่วยหายใจ ครอบครัวผู้ป่วยมีความเห็นที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการหรือไม่

                2. การทำประโยชน์ (Beneficence) หมายถึง การทำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์เอื้ออาทรแก่เพื่อนมนุษย์  โดยมีหลักการการทำประโยชน์  ดังนี้

                    2.1 การส่งเสริมการทำสิ่งที่ดี เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ ได้แก่ การให้ทางเลือกในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยมะเร็ง

                    2.2 การป้องกันอันตราย ไม่ให้เกิดแก่ผู้ป่วย เช่น ให้ยานอนหลับตามแผนการรักษาแล้วยกไม้กั้นเตียงขึ้น  การแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด

                    2.3 การนำสิ่งที่เป็นอันตรายออกไป เป็นส่งสำคัญมากกว่าการส่งเสริมสิ่งดี  เช่น การทำความสะอาดแผล เช่าน  การป้องกันการติดเชื้อ

                3. การไม่ทำอันตราย (Non maleficence) การกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุ หรือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นเป็นการให้การพยาบาลด้วยความละเอียด รอบคอบและดูแลปกป้องผู้ป่วยไม่ให้เกิดอันตรายโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ผู้ที่มีปัญหาทางจิต ผู้ป่วยไม่ รู้สึกตัว ฯลฯ

                 4. ความซื่อสัตย์ (fidelity / confidentiality) เป็นการกระทำด้วยความซื่อสัตย์ตามพันธะสัญญาของวิชาชีพซึ่งต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ซื่อสัตย์และรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยการและ มีการรักษาความลับของผู้ป่วยที่เป็นข้อตกลง สัญญา และพันธะหน้าที่ที่บุคคลหนึ่งทำกับอีกบุคคลหนึ่ง เป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นอันตรายหรือน่าอับอายของผู้ป่วยเป็นความลับ โดยข้อมูลของผู้ป่วยจะนำไปเปิดเผยได้เฉพาะกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเท่านั้น

                5. ความยุติธรรม (Justice) การกระทำต่อผู้ป่วยและครอบครัวด้วยความยุติธรรม ให้การพยาบาลทุกคนเท่าเทียมกันไม่เลือกชนชั้น เชื้อชาติศาสนา ให้การดูแลผู้ป่วยโดยไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงความต้องการของบุคคล โดยส่งเสริมพฤติกรรมของนักศึกษาที่แสดงถึงการดูแล ผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้ คำพูด กิริยาท่าทาง หรือการกระทำที่แสดงความรังเกียจ หรือมีเจตคติทางลบต่อผู้ป่วยบางกลุ่ม

                6. การบอกความจริง (Veracity  /  Truth Telling) การบอกความจริงเป็นให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่ผู้ป่วย อธิบายการวินิจฉัย การรักษา และการพยากรณ์โรคให้ผู้ป่วยเข้าใจ ผู้ป่วยต้องได้รับความจริงที่เกี่ยวข้องกับตน ไม่หลอกลวงหรือโน้มน้าวให้ใช้บริการเกินจำเป็น โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและความต้องการของผู้ป่วย โดยส่งเสริมพฤติกรรมของนักศึกษาในการสื่อสารที่เป็นจริง ทั้งคำพูด การเขียน เช่น บันทึกข้อมูลจริงที่ได้จากการกระทำจริง กล้าสารภาพเมื่อกระทำผิด เช่น

                    - การบอกความจริงที่เป็นข่าวร้าย มักก่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรมแก่ทีมสุขภาพว่าควรตัดสินใจบอกความจริงที่เป็นข่าวร้ายหรือไม่ และควรบอกอย่างไร ไม่ให้เกิดผล

เสียอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วย หรือให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด

                 แนวคิดจริยธรรมในการปฏิบัติการพยาบาล                         

                 1. การพิทักษ์สิทธิหรือการทำหน้าที่แทน (Advocacy)

                   หมายถึง การที่บุคคลกระทำเพื่อปกป้องผู้อื่น หรือช่วยให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ดังนั้นในการทำหน้าที่แทนผู้ป่วยพยาบาลจะต้องช่วยผู้ป่วย พิทักษ์สิทธิของผู้ป่วย และเป็นตัวแทนของผู้ป่วย (surrogates)

ในการตัดสินใจ และลงมือ กระทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย

                 2. ความรับผิดชอบ (Accountability/Responsibility)

                     หมายถึง การที่พยาบาลมีความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด (legal accountability) และมีความรับผิดชอบทางจริยธรรม (moral accountability) ซึ่งความรับผิดชอบเหล่านี้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันความเจ็บป่วย การฟื้นฟูสภาพ และการบรรเทาความทุกข์ทรมาน นอกเหนือจากความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ป่วยหรือประชาชนแล้ว พยาบาลยังต้องมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อตนเอง และต่อสังคม ตามที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย

                 3. ความร่วมมือ/สัมพันธภาพ (Cooperation/Relationships)

                    เป็นการมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรในทีมสุขภาพ เพื่อให้ การดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ แนวคิดทางจริยธรรมนี้เชื่อว่าความร่วมมือจะส่งเสริมการสร้าง เครือข่ายที่จะให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ความร่วมมือยังเป็นแนวคิด ของการเสียสละ เพราะเป็นการแสดงถึงความผูกพันของมนุษย์ที่เกิดดจากการทำงานและใช้เวลา ร่วมกับผู้อื่น

                  4. ความเอื้ออาทร (Caring)

                     บทบาทของพยาบาลจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการดูแลที่เอื้อ อาทร ซึ่งหมายถึง การที่พยาบาลมีหน้าที่ที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์รวมทั้งการดูแลให้ ผู้ป่วยมีภาวะสุขภาพที่ดีแนวคิดจริยธรรมนี้มีคุณค่าต่อสัมพันธภาพระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วย และ สอดคล้องกับหลักจริยธรรมด้านการทำประโยชน์และการเคารพเอกสิทธิ์ / ความเป็นอิสระ

                 ดังนั้นอาจารย์ควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมพฤติกรรมจริยธรรมของนักศึกษาในประเด็น

ทั่วๆไป โดยมีวิธีการส่งเสริมพฤติกรรมจริยธรรม ดังต่อไปนี้

                 1. อาจารย์แสดงแบบอย่างทางจริยธรรมในการดูแล ผู้ป่วยที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ และสิทธิของผู้ป่วย

                 2. การเยี่ยมตรวจทางจริยธรรม (ethics rounds) โดยเลือกสถานการณ์ที่อาจเสี่ยงต่อการกระทำผิดจริยธรรม และชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมคืออะไร

                 3. สร้างบรรยากาศจริยธรรมในการเรียนการสอน เช่น ไม่แสดงอารมณ์ทางลบเมื่อนักศึกษาทำผิด หรือสารภาพผิดให้เกียรตินักศึกษา ไม่ใช้กิริยาวาจาและท่าทางที่ไม่เหมาะสมกับนักศึกษา

                 4. เน้นย้ำให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรม ในการปฏิบัติการพยาบาล

                 ปัญหาและอุปสรรค

                ในการฝึกวิชา ภาคปฏิบัติ นักศึกษามักปฏิบัติเลียนแบบอย่างจากรุ่นพี่ โดยไม่รู้สึกว่าการปฏิบัติการพยาบาลของตัวเอง อาจละเมิดสิทธิผู้ป่วย เช่น การถ่ายรูปแฟ้มประวัติผู้ป่วย การเปิดเผยผู้ป่วย

                 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

               - ควรมีสถานการณ์ผู้ป่วยกรณีศึกษาที่มีหลากหลายประเด็น ให้นักศึกษาได้ฝึกวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหา

               - ควรให้นักศึกษาฝึกคิดวิเคราะห์บ่อยๆ ถึงสถานการณ์ที่มีความลำบากในการตัดสินใจ การตีความคุณค่าความเชื่อของตนเอง ผู้ป่วย และญาติ พยาบาลจะตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร

               - ครูผู้สอนภาคปฏิบัติควรเน้นให้นักศึกษาตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยที่ควรให้การดูแลที่เหมาะสม

  การจัดการเรียนการสอน โดยใช้หลักจริยศาสตร์ทางการพยาบาล  : อ.ปัทมา ผาติภัทรกุล

ในรายวิชา จริยศาสตร์และกฎหมายวิชาชีพการพยาบาล

วัตถุประสงค์รายวิชา ได้แก่

           PLO 1 มีความรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาล การผดุงครรภ์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถประยุกต์ได้อย่างเหมาะสม

           PLO 4 คิดอย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

           PLO 8 มีคุณธรรม จริยธรรม เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความรับผิดชอบ

           PLO 9 สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และสนใจใฝ่รู้ในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

          วิธีการจัดการเรียนการสอน

          - การวางแผน ประชุมออกแบบการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มวิชา โดยออกแบบให้มีการยกกรณีตัวอย่างกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการคิด โดยการตอบคำถามในชั้นเรียน

          - การแบ่งกลุ่มทำใบงาน อภิปรายกรณีตัวอย่าง การสะท้อนคิดจากกรณีตัวอย่าง หรือวิดีทัศน์ ในการตัดสินใจปัญหาจริยธรรม

          - ประเด็นคำถาม ได้แก่

            (1) จากกรณีศึกษา นักศึกษารู้สึกอย่างไรต่อการกระทำของพยาบาลจบใหม่รายนี้

            (2) หากเป็นตัวนักศึกษาเองที่พบสถานการณ์เดียวกับกรณีศึกษา นักศึกษาจะทำอย่างไร

            (3) จากสถานการณ์ตัวอย่างเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรมทางการพยาบาล จรรยาบรรณวิชาชีพ สิทธิผู้ป่วย สิทธิพยาบาลในเรื่องใดบ้าง เพราะอะไร                                       

            (4) จากกรณีศึกษา นักศึกษาจะพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลอย่างไร

            (5) นักศึกษาได้เรียนรู้อะไรจากการวิเคราะห์กรณีศึกษา และจะนำไปใช้ต่ออย่างไร

 

            ผลการประเมิน

            CLO 3.2 นักศึกษาสามารถคิดอย่างเป็นระบบ คิดอย่างมีวิจารณญาณ มีค่าเฉลี่ยที่ 4.24 SD 0.45

            CLO 4.4 นักศึกษาสามารถแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพและสังคม มีค่าเฉลี่ยที่ 4.17 SD 0.42

 

            ปัญหาและอุปสรรค

            นักศึกษายังไม่เข้าใจหลักจริยศาสตร์เท่าที่ควร ส่งผลให้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาจริยธรรมจากกรณีตัวอย่างผู้ป่วยจริงไม่ตรงประเด็น แต่ระบุมาตามทฤษฎีทั้งหมดตามตำรา

              ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

             - ควรส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักรู้และกล้ายอมรับในการปฏิบัติการพยาบาลของตนเอง เพื่อช่วยให้การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างปลอดภัย

             - สอนเน้นให้นักศึกษามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในหลักแนวคิด องค์ประกอบของจริยธรรม จัดกิจกรรมกระตุ้นช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้

             - การพัฒนา สร้างคู่มือสำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยทั้งพัฒนาอาจารย์ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักจริยศาสตร์ ที่เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจมากขึ้น

             - ควรมีแผนการสอนที่ชัดเจนของรายวิชา เพื่อเป็นแนวทางในจัดกิจกรรมการสอน โดยใช้หลักจริยศาสตร์ พัฒนานักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

             - ครูผู้สอนอาจกระตุ้นให้นักศึกษาเล่าบรรยายสถานการณ์ที่ได้พบเห็นมา และมาวิเคราะห์ถึงประเด็นจริยธรรมที่สำคัญร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมถึงหลักจริยธรรมและประเด็นปัญหาจากสถานการณ์จริงมากขึ้น

 

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักจริยศาสตร์ วิชา ปฏิบัติการบริหารการพยาบาล: ดร.พนมพร กีรติตานนท์

             ผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชา

            นักศึกษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการจัดการประเด็นปัญหาทางจริยธรรมในการบริหารการพยาบาลได้  (CLO 1)

            กิจกรรมการจัดการเรียนการสอน

             1) มอบหมายงานให้นักศึกษา ค้นหาความเสี่ยงในการปฏิบัติการพยาบาล  เช่น การบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการบริการทางการพยาบาลที่ผิดพลาดและขาดมาตรฐานการปฏิบัติที่ถูกต้อง การเคารพสิทธิผู้ป่วยที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยและญาติ

             2) จัดกิจกรรมให้นักศึกษาค้นหาความเสี่ยง (risk profile) ในการปฏิบัติการพยาบาล เช่น การบริหารอัตรากำลัง หรือปัญหาการเคารพสิทธิผู้ป่วย โดยการจัดการความเสี่ยงทางคลินิก การตัดสินใจแทนของบุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางจริยธรรมในแต่ละกรณีว่าในละรายนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องใด

             3) การนำผลการวิจัยทางการพยาบาลมาใช้ในการวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจเชิงจริยธรรม หรือ

Swiss Cheese Model เพื่อการป้องกันความเสี่ยง ๕ ขั้นตอน ดังนี้

                 (1) การเก็บรวบรวมข้อมูล

                 (2) การกำหนดขนาดประเด็นขัดแย้ง

                 (3) การพิจารณาทางเลือกในการปฏิบัติ

                 (4) การวิเคราะห์ผลดีผลเสียที่จะเกิดตามมาในแต่ละแนวทางที่จะปฏิบัติ

                 (5) การตัดสินใจเลือกและลงมือปฏิบัติ

 

              5) นำไปสู่การประยุกต์งานวิจัยในการแก้ปัญหาจริยธรรม

               ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

             - อาจารย์ผู้สอนควรอ่านผลงานวิจัยเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติไปสู่การปฏิบัติ

             - การมีแนวคำถาม กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ อภิปรายรายกลุ่มสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม ที่ควรให้เวลานักศึกษาพอสมควรในการคิดวิเคราะห์ และมีแนวทางในการช่วยนักศึกษาวิเคราะห์

             - อาจใช้วิธีการสังเกต สะท้อนคิด (reflection) ในขณะทำกิจกรรมกลุ่มวิเคราะห์ประเด็นปัญหาจริยธรรม

           - ครูผู้สอน หรืออาจารย์ประจำกลุ่มต้องมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักจริยศาสตร์ รวมถึงประสบการณ์ในการวิเคราะห์จัดการประเด็นปัญหาจริยธรรม เพื่อช่วยให้ข้อคิดให้นักศึกษาเข้าใจประเด็นปัญหาจริยธรรมมากยิ่งขึ้น

           - ครูผู้สอนเป็นตัวอย่างในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และช่วยกนะตุ้นให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์ และควรระมัดระวังในกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง เช่น มารดาที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ที่ควรได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน

           - การเน้นย้ำประเด็นการรักษาความลับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ความแตกต่างในแต่ละบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น