สมจิตต์ สินธุชัย
บทนำ
กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคสังคมแบบเศรษฐกิจฐานความรู้
(Knowledge-based economy)
กล่าวคือเป็นสังคมที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ
เพื่อใช้เป็นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคมและการเมือง ให้เป็นไปในทิศทางที่เจริญก้าวหน้า
สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างทัดเทียม
ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพสูงสุด
ซึ่งการศึกษาเป็นกลไกหลักดังกล่าว ด้วยความสำคัญนี้โครงการวิจัยบูรณาการ “การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้” ซึ่งมีรองศาสตราจารย์
ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์เป็นหัวหน้าโครงการ จึงได้กำหนดคุณลักษณะพึงประสงค์ 4
ร.และนำเสนอรูปแบบการสอนในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนและใช้เป็นวิธีการสอนหลัก
ในโครงการพัฒนารูปแบบการครุศึกษาเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ (Creative and
Productive Teacher Education CPTE) โดยเรียกชื่อ รูปแบบการสอนโดยรวมว่า
รูปแบบการสอน CRP อันประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนแบบตกผลึก(Crystal-based
Instructional Model) รูปแบบการเรียนการสอนด้วยวิธีวิจัย (Research-based
Instructional Model) และรูปแบบการเรียนการสอนเชิงผลิตภาพ (Productivity-based
Instructional Model) เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สอดคล้องกับแนวการพัฒนาคนรุ่นใหม่ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ในปัจจุบันต่อไป
คุณลักษณะพึงประสงค์
4
ร.
โครงการวิจัยการเปลี่ยนผ่านการศึกษาสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้
ได้นำเสนอนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการด้านการศึกษาอันจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับสังคมแบบเศรษฐกิจฐานความรู้
โดยนักวิจัยในโครงการได้ร่วมประชุมระดมความคิด
และสรุปคุณลักษณะเด็กไทยที่พึงประสงค์สำหรับสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้เรียกว่า 4 ร. คือ 1) รู้ทันรู้นำโลก 2) เรียนรู้ชำนาญ
เชี่ยวชาญการปฏิบัติ 3) รวมพลัง สร้างสรรค์สังคมไทย และ 4) รักษ์วัฒนธรรมไทย
ใฝ่สันติดังนี้ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์และคณะ, 2550:3-9 ; อุไรรัตน์ สำเริงวงษ์,2549 :46-49
)
1.รู้ทันรู้นำโลก (Smart
consumer) การพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้ที่รู้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
ต้องอาศัยความรู้และทักษะต่างๆ ได้แก่ 1) ทักษะในการแสวงหา คัดสรรและสร้างความรู้
ต้องตื่นตัวในการสืบค้นข้อความรู้ สามารถแยกแยะข้อเท็จจริง
ประยุกต์ข้อความรู้เดิมให้เกิดเป็นข้อความรู้ใหม่ที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม
2) ทักษะการใช้และจัดการความรู้ ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์
ไตร่ตรองอย่างรอบครอบ ถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของข้อมูล
ข่าวสารและนำข้อมูลมาจัดกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) ทักษะในการวิเคราะห์และแก้ปัญหา
ต้องเป็นบุคคลที่ใช้เหตุผลในการประเมินและตัดสินปัญหามากกว่าการใช้อารมณ์
ความรู้สึก 4) ทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บุคคลจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงความเหมาะสม
คล่องแคล่วและคุ้มค่า และ 5) ทักษะทางภาษาและการสื่อสาร ได้แก่การเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถพูด ฟังและจับใจความสำคัญได้ อ่านได้อย่างชัดเจนถูกต้องตามอักขระ และเขียนเพื่อแสดงความคิดได้หลากหลาย
2.เรียนรู้ชำนาญ
เชี่ยวชาญการปฏิบัติ (Breakthrough thinker) สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร
การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัย 1) การคิดใหม่ การคิดสร้างสรรค์และการคิดแจ้งแทงตลอด เป็นการคิดที่ไม่ยึดติดกรอบเดิม
มองเห็นสิ่งต่างๆในมิติหรือมุมมองใหม่ๆ และสามารถนำความคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์
สังเคราะห์ กลั่นกลองจนเกิดเป็นองค์ความรู้หรือผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้จริง
และ 2) จิตมุ่งคุณภาพ มาตรฐานและความเป็นเลิศ การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคย่อมส่งผลให้งานชิ้นนั้นประสบความสำเร็จ
3.รวมพลัง สร้างสรรค์สังคมไทย (Social concern) การรวมพลังเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่น
การพัฒนาจะเป็นไปได้ด้วยดีเมื่อบุคคลในสังคมมองเห็นว่าปัญหาและทางออกของสังคมไทยจะต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน
โดย 1) การทำงานแบบร่วมมือเป็นทีมและสร้างเครือข่าย 2) ความสามารถในการบริหารจัดการ การจัดระบบและวางแผนการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดภายใต้เงื่อนไขของเวลา การเงินและทรัพยากรที่มี 3) การแข่งขัน อดทน สู้สิ่งยาก เป้าหมายหลักคือการแข่งขันกับตนเอง ส่งเสริมให้บุคคลตั้งเป้าหมายในชีวิตและกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
และ 4) การเห็นแก่ส่วนรวม เป็นธรรมและยั่งยืน
การร่วมแรงร่วมใจเสียสละประโยชน์ส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ นอกจากนี้คุณลักษณะที่สำคัญที่บุคคลในสังคมควรมีคือการมีคุณธรรม
ไม่เห็นแก่ตัว
4.รักษ์วัฒนธรรมไทย ใฝ่สันติ (Thai pride) รักษ์ความเป็นไทย
ยึดมั่นในสันติธรรม สังคมไทยต้องการบุคคลที่มีคุณธรรม
รู้จักรากเหง้าและภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าในภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถเอาภูมิปัญญาดังกล่าวมาใช้เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนารูปแบบการการเรียนการสอนแบบ
CRP
คุณลักษณะพึงประสงค์
4
ร.ที่กำหนดขึ้นเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนากระบวนการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้
โดยการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะ 4
ร.ต้องอาศัยการจัดการศึกษาซึ่งมีผู้เสนอแนวคิด
ทฤษฎีในการจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้เกิดคุณลักษณะดังกล่าว อย่างหลากหลาย
เช่นการเรียนรู้แบบนำตนเอง การเรียนรู้แบบกำกับตนเอง ฯลฯ ซึ่งทีมโครงการพัฒนารูปแบบการครุศึกษาเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพมีความคิดเห็นว่า ควรจะผนวกแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีขั้นตอนชัดเจน
สะดวกกับการนำไปประยุกต์ใช้ จึงได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทั้งหมด 3 รูปแบบคือ รูปแบบการเรียนการสอนตกผลึก (Crystal-Based
Instructional Model) รูปแบบการเรียนการสอนด้วยวิธีวิจัย
(Research-Based Instructional Model) และรูปแบบการเรียนการสอนเชิงผลิตภาพ
(Productivity-Based Instructional Model) ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนทั้ง
3 พัฒนาอย่างเป็นระบบจากแนวคิดและทฤษฎีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้เรียนดังกล่าว
ทฤษฎี
หลักการและแนวคิดของรูปแบบการเรียนการสอนแบบ CRP
ทฤษฎี
หลักการและแนวคิดที่เป็นรากฐานของรูปแบบการเรียนการสอนแบบ CRP ประกอบด้วย 8 แนวคิด/ทฤษฎีหลัก ดังนี้ (จันทร์เพ็ญ เชื้อพานิช,2549:86;ไพฑูรย์ สินลารัตน์และคณะ,2550:33-35;ทิศนา แขมมณี,2554:126; สร้อยสนธ์ สกลรัตน์,2549:67-68)
1.
การเรียนรู้แบบกำกับตนเอง
(Self-Regulated Learning) คือการเรียนรู้ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากแรงจูงใจที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนและดำเนินการเรียนรู้ตามแนวคิด
3 ระยะคือ 1) กำหนดเป้าหมายและวางแผนในการเรียน 2) ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ และ3) ประเมินผลการเรียนรู้
โดยอิงจากเป้าหมายและแผนที่วางไว้
2.
การเรียนรู้แบบนำตนเอง
(Self-Directed Learning) คือการให้โอกาสผู้เรียนวางแผนการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ซึ่งครอบคลุมการวินิจฉัยความต้องการในการเรียนรู้ของตนเอง การตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
การเลือกวิธีการเรียนรู้ แสวงหาแหล่งความรู้ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล
รวมทั้งการประเมินตนเองโดยผู้สอนมีหน้าที่กระตุ้นและให้คำปรึกษา
3.
การเรียนรู้ในบริบทจริง (Situated
Learning) คือการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนด้วยการปฏิบัติในสถานการณ์จริงหรือในบริบทที่เหมือนจริง
เน้นการใช้กระบวนการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่ซับซ้อน
ซึ่งจูงใจให้ผู้เรียนกล้าที่จะปฏิบัติตามภาระงานที่ได้รับ และสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพและเป็นรูปแบบของตนเองอย่างแท้จริง
โดยผู้สอนต้องให้อิสระทางความคิดและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน
ถ้าผู้เรียนพบว่าความรู้เดิมของตนเองไม่เพียงพอผู้เรียนจะสร้างแรงจูงใจภายในซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดด้านการรับรู้ความสามารถของตนเอง
จนทำให้ผู้เรียนมีความเพียรพยายามที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย
4.
การเรียนรู้แบบร่วมมือ
(Co-operative Learning) คือการเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย
3-6 คน มีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ
ได้แก่ 1) หลักการพึ่งพากันโดยทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องพึ่งพากันเพื่อความสำเร็จร่วมกัน
2) การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด 3) ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน
โดยต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ 4)
ใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการทำงานกลุ่มที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จ และ 5) การวิเคราะห์กระบวนการทำงานกลุ่ม
เพื่อให้กลุ่มเรียนรู้และปรับปรุงงานให้ดีขึ้น
5.
การเรียนรู้แบบร่วมกัน
(Collaborative Learning) คือการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันศึกษา
ค้นคว้าและปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างเต็มความสามารถในเรื่องที่สมาชิกกลุ่มให้ความสนใจ
เป็นการเรียนแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
6.
การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem
-Based Learning) คือการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการเรียน
(Learn to learn) เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง
ปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ต้องมีความหมายและความสัมพันธ์กับผู้เรียน
รวมทั้งน่าสนใจกระตุ้นความอยากรู้ อยากเห็นเพื่อดึงความสนใจของผู้เรียนให้เข้าสู่การคิดหาวิธีการหรือกระบวนการแก้ปัญหา
7.
การเรียนรู้แบบใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-
Based Learning) คือการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รู้จักสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความหมาย
ตั้งข้อคำถามหรือมองเห็นปัญหา
พร้อมทั้งหาคำตอบได้ด้วยตนเองจากการแสวงหาข้อมูลที่หลากหลาย วิเคราะห์
สังเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจนได้คำตอบที่มีเหตุผลเชื่อถือได้
8.
การเรียนรู้แบบโครงงาน (Project-Based
Learning) คือการจัดสภาพการณ์ของการเรียนการสอน
โดยให้ผู้เรียนได้ร่วมกันเลือกโครงการที่ตนสนใจ โดยร่วมกันสำรวจ สังเกตและกำหนดเรื่องที่ตนสนใจ
วางแผนในการทำโครงการร่วมกัน ศึกษาหาข้อมูลความรู้ที่จำเป็นและลงมือปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้จนได้ข้อค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่
แล้วจึงเขียนรายงานแล้วนำเสนอต่อสาธารณชน เก็บข้อมูลแล้วนำผลงานและประสบการณ์ทั้งหมดมาอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้
ความคิดค้นและสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ที่ได้รับทั้งหมด
ทฤษฎี
หลักการและแนวคิดทั้ง 8
หลักดังกล่าวนับเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ
CRP ให้เป็นรูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุกที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนผ่านกระบวนการเรียนการสอนเข้าสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้
ดังแผนภูมิที่ 1