วิชาชีพการพยาบาลมีการพัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการวิจัยทางการ
พยาบาลเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1952 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีผลงานวิจัยทางการพยาบาลและสุขภาพตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและฐานข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจำนวนมากที่พยาบาลสามารถจะสืบค้นได้อย่างรวดเร็วในหัวข้อเรื่องที่สนใจและนำความรู้หรือข้อค้นพบจากบทความหรือรายงานวิจัยที่สืบค้นได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจปฏิบัติการพยาบาล อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าถึงแม้ว่าจะมีผลงานวิจัยเพิ่มขึ้นจำนวนมากแต่พยาบาลมีการใช้หลักฐานจากการวิจัยมาประกอบการตัดสินใจปฏิบัติการพยาบาลไม่มากนัก ดังที่วู๊ด (Wood, 2008) พบว่าในปัจจุบันยังคงมีช่องว่างระหว่างการวิจัยกับการปฏิบัติทางคลินิก และอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่จะนำการวิจัยสู่การปฏิบัติได้ประสบความสำเร็จ พยาบาลมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้วิธีการปรึกษากับเพื่อนร่วมงานเป็นแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับการปฏิบัติการพยาบาลอีกทั้งไม่มีการค้นหาหลักฐานจากผลงานวิจัยเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจปฏิบัติการพยาบาล ดังผลการศึกษาของธีลและโกส(Thiel & Ghosh, 2008) ในการสำรวจความพร้อมของพยาบาลต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based practice; EBN) ของพยาบาลในโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเฉียบพลันในแถบตะวันตกตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่าถึงแม้ว่าพยาบาลมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ยังมีความรู้เกี่ยวกับ EBP ในระดับปานกลางและส่วนใหญ่ร้อยละ 72.5 ใช้วิธีการปรึกษาเพื่อร่วมกันหรือผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าจะหาข้อมูลจากวารสารหรือตำรา มีเพียงร้อยละ 24 ที่ใช้ฐานข้อมูลสุขภาพ
จากประเด็นดังกล่าวจึงเกิดคำถามว่า “ทำไมพยาบาลจึงไม่ใช้ผลการวิจัยและเราจะปิดช่องว่าง
ระหว่างการวิจัยกับการปฏิบัติได้อย่างไร?” ในการตอบคำถามนี้ได้มีการอภิปรายนำเสนอการใช้แนวคิด EBN เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างการวิจัยสู่การปฏิบัติในคลินิกโดยมุ่งหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติแบบดั้งเดิมไปสู่การปฏิบัติวิธีใหม่ที่มีความชัดเจนในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ หรือเป็นการปฏิบัติแบบเดิมที่มีหลักฐานยืนยันในประสิทธิผล EBN เป็นวิธีการแก้ปัญหาในการดูแลสุขภาพของผู้รับบริการโดยใช้หลักฐานที่ดีที่สุดจากการศึกษาค้นคว้าวิจัย ข้อมูลของผู้ป่วยความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการ และความชอบของผู้รับบริการมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจให้บริการภายใต้การสนับสนุนของสถานพยาบาลซึ่งจะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายของการดูแลที่มีคุณภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้รับบริการ (Melnyk, et al., 2009)ดังนั้นการพัฒนาวิชาชีพพยาบาลในปัจจุบันและอนาคตจึงมุ่งสู่การนำ EBN ไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลที่มีคุณภาพและความปลอดภัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น