การเรียนรู้โดยใช้ใช้ปัญหาเป็นหลัก
สมจิตต์ สินธุชัย
บทนำ
การศึกษาเพื่อศตวรรษที่
21
จำเป็นต้องพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
และทักษะในการตัดสินใจ ผู้เรียนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูล สรุป วิเคราะห์
และสังเคราะห์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาได้ เป้าหมายของการเรียนรู้คงจะไม่ได้อยู่ที่ความรู้หรือเนื้อหาวิชาอีกต่อไป
เพราะความรู้มีมากและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเกินกว่าที่หลักสูตรใดๆจะสามารถรวบรวมและบรรจุองค์ความรู้ไว้ในการเรียนการสอนได้ครบถ้วน
นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองจากทุกแห่งทั้งในสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการเรียนรู้จะเกิดได้จริงเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้
และเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง นั่นคือผู้เรียนเป็นเจ้าขององค์ความรู้นั้น ดังนั้นในศตวรรษใหม่ กระบวนการเรียนรู้จึงสำคัญกว่าความรู้
ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 จึงต้องให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติเอง สร้างความรู้ที่เกิดจากความเข้าใจของตนเอง
และมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น (Active learning) รูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดจากแนวคิดนี้มีอยู่หลายรูปแบบ
เช่น การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based learning)
ความเป็นมาของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
การเรียนรู้โดยใช้ใช้ปัญหาเป็นหลักมีการพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Faculty of
Health Sciences) ของมหาวิทยาลัย McMaster ที่ประเทศแคนาดา ในปีค.ศ. 1969 โดยโฮเวิรด์
แบร์โรว์ ซึ่งเป็นแพทย์ระบบประสาท มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้รับความรู้แบบบูรณาการ
สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้ป่วย โดย มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาที่นำรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักมาใช้ในการสอนมีหลายแห่ง
แต่ในยุคแรก ๆ ได้นำไปใช้กับหลักสูตรของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ปัญหาทางคลินิกสูงมาก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ยังใช้วิธีสอนแบบดั้งเดิมอยู่ยอมรับรูปแบบ
การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักในการสอนมากขึ้น จนกระทั่งกลางปี ค.ศ. 1980 การสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักได้ขยายออกไปสู่การสอนในสาขาอื่น
ๆ ทุกวงการวิชาชีพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์
พฤติกรรมศาสตร์ นอกจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาแล้ว มหาวิทยาลัยของประเทศแทบทุกส่วนของโลกก็ให้ความสนใจในการนำรูปแบบการเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักไปใช้สอนในโรงเรียนแพทย์และโรงเรียนวิชาชีพ
(Medical and professional school) ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย
Maastricht ที่เนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัย Newcastle ที่ออสเตรเลีย เป็นต้น (Camp,1996:1;Savin-Baden,2007:8)
สำหรับในประเทศไทยมีการนำหลักการการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักมาใช้ครั้งแรกในหลักสูตรแพทย์ศาสตร์
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2531 และมีการนำไปประยุกต์ใช้ในสถาบันการศึกษาอื่นๆเช่น
คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2533 และมหาวิทยาลัยขอนแก่นสำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักในการสอนร่วมกับผู้สอนจากมหาวิทยาลัย
Stanford และ Vanderbuilt และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปให้ดำเนินงานในโครงการ
Human Development through Problem-Based Learning ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว
2 ปี (2548-2550) ให้มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักในรายวิชาต่างๆของมหาวิทยาลัยจำนวน
24 รายวิชา (ไทย ทิพย์สุวรรณกุล,2551:1)
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักคืออะไร
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นหลักการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่จากการใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นบริบทของการเรียนรู้
ปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้นนี้ต้องมีความหมายและความสำคัญต่อผู้เรียน
รวมทั้งต้องน่าสนใจและกระตุ้นความอยากรู้อยากเรียนเพื่อดึงความสนใจของผู้เรียนให้เข้าสู่การคิดหาวิธีการหรือกระบวนการแก้ปัญหา
เกิดความใฝ่รู้ เกิดทักษะ กระบวนการคิดและวิเคราะห์ กระบวนการแก้ปัญหา
ซึ่งผู้เรียนจะได้พัฒนาการเรียนโดยการชี้นำตนเอง การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การประเมินตนเอง
การสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูล และการเรียกข้อมูลมาใช้เมื่อต้องการ
(มัณฑรา ธรรมบุศย์,2545:1;ทิศนา แขมมณี,2553:137;
Lowenstein& Bradshaw,2001:83)
แนวคิดที่สำคัญในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
วิธีการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นเทคนิคการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการแก้ปัญหา
โดยมีกลไกพื้นฐานในการเรียนรู้ 3 ประการ คือ 1)
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem – based learning )
2) การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง (Self – directed learning )
และ3) การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย (Small
– group learning ) (Rideout,2001:22-24)
1.การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
(Problem-based Learning) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักเป็นวิธีการสอนที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้น
ให้ผู้เรียนมีกิจกรรมการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียน
ดังนั้นในการเรียนแบบนี้ผู้เรียนต้องศึกษาปัญหา ระบุความต้องการที่จะเรียนรู้
แสวงหาความรู้ใหม่ที่ต้องการโดยการศึกษาด้วยตนเอง
แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ในการแก้ปัญหา
2.การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง
(Self–directed learning) การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนริเริ่มและเรียนรู้ด้วยตนเองในการระบุความต้องการในการเรียนรู้
สร้างเป้าหมายการเรียนรู้ การเลือกและใช้วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม
รวมทั้งการประเมินผลการเรียนรู้
3.
การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย (Small–group learning) การเรียนเป็นกลุ่มมาจากแนวคิดการเรียนรู้โดยความร่วมมือของกลุ่มผู้เรียน (Cooperative
learning) ซึ่งเชื่อว่าสมาชิกกลุ่มผู้เรียนจะเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลถ้าผู้เรียนร่วมมือกันทำงานในกลุ่มเพื่อแสวงหาความรู้โดยสมาชิกกลุ่มจะให้การช่วยเหลือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของกลุ่ม การจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย McMaster ใช้การเรียนเป็นกลุ่มย่อยประกอบด้วยผู้เรียนประมาณ 8-10
คน
หลักการการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักประกอบด้วยหลักการซึ่งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้คือ
1) กระตุ้นความรู้เดิม (Activation of prior learning) 2) การเสริมความรู้ใหม่
(Encoding specificity) และ 3) การต่อเติมความเข้าใจให้สมบูรณ์
(Elaboration of knowledge) ดังนี้ (วัลลี
สัตยาศัย,2547;31; Rideout,2001:22).
1.
กระตุ้นความรู้เดิม (Activation
of prior learning) ความรู้เดิมของผู้เรียนมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้มากเนื่องจากความรู้เดิมจะเป็นฐานของความรู้ใหม่
ผู้สอนจึงควรกระตุ้นความรู้เดิมที่ซ่อนเร้นอยู่ในสมองให้นำมาใช้ให้มากที่สุด สำหรับเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ใหม่
2.
การเสริมความรู้ใหม่ (Encoding
specificity) ประสบการณ์ที่จัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความรู้ใหม่มากขึ้น
ถ้าประสบการณ์มีความคล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งที่เรียนรู้มาและสิ่งที่จะนำไปประยุกต์ใช้มากเท่าไรก็ยิ่งจะเรียนรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น
3.
การต่อเติมความเข้าใจให้สมบูรณ์ (Elaboration
of knowledge) ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้อย่างเข้าใจได้ดีขึ้น
จำได้อย่างแม่นยำ และสามารถนำความรู้นั้นๆออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามีโอกาสเสริมต่อความเข้าใจข้อมูลต่างๆให้สมบูรณ์มากขึ้นด้วยการถาม-ตอบคำถาม
การอภิปรายกับผู้อื่น การสรุปข้อมูลซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจและจดจำได้ง่าย
ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
มีทฤษฎีการเรียนรู้และหลักการเรียนรู้ดังนี้
1.ทฤษฎีการประมวลข้อมูลข่าวสาร
(Information Processing Theories)
สมิดท์ (Schmidt,1983 อ้างถึงใน Tootell
& McGeorge,1998:19-20) อธิบายถึงทฤษฎีการประมวลข้อมูลข่าวสารที่ส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก โดยการกระตุ้นความรู้เดิม (Activation
of prior learning) การเสริมความรู้ใหม่
(Encoding specificity) และการต่อเติมความเข้าใจให้สมบูรณ์ (Elaboration
of knowledge) เนื่องจากทฤษฎีนี้
กล่าวถึงกระบวนการในการประมวลข้อมูลข่าวสาร ประกอบด้วยการรับข้อมูลมาและเปลี่ยนรูปโดยการใช้รหัส
(Encoding) การบันทึกข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงเป็นรหัสเรียบร้อยแล้ว
(Storage) และการถอดรหัสหรือเรียกคืนข้อมูลมาใช้เมื่อต้องการ (Retrieval)
การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักให้ความสำคัญที่การเพิ่มความใส่ใจ (Attention)
ของผู้เรียน ผู้เรียนจะไม่สามารถประมวลข้อมูลได้ถ้าไม่รู้จัก (Recognition)
และเข้าใจหรือรับรู้ (Perceive) ดังนั้นปัญหาที่คล้ายคลึงกับชีวิตจริงจะทำให้ผู้เรียนมีความสนใจ
ซึ่งคลอสไมเออร์ (Klausmeier,1985 อ้างถึงในทิศนา
แขมมณี,2553:81) กล่าวถึงทฤษฎีการประมวลข้อมูลข่าวสารว่า บุคคลจะเลือกรับข้อมูลที่ตนรู้จักและใส่ใจ
ซึ่งเป็นความจำในระดับประสาทสัมผัส (Sensory memory) เพื่อถูกเก็บไว้ในความจำระยะสั้น
(Short-term memory) ข้อมูลจะได้รับการประมวลและเปลี่ยนรูปโดยการเข้ารหัส
(Encoding) ไปเป็นความจำระยะยาว (Long-term memory) ซึ่งการทำให้ข้อมูล ข่าวสารถูกเก็บไว้ในความจำระยะยาว อาจต้องใช้เทคนิคเช่นการท่องซ้ำหลายๆครั้งหรือ
การทำข้อมูลให้มีความหมายกับตนเองโดยการสัมพันธ์สิ่งที่เรียนรู้ใหม่กับสิ่งเก่าที่เคยรู้มาก่อนที่เรียกว่าการขยายต่อเติมความคิด
(Elaboration) ซึ่งหากมีการเก็บบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้วอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถเรียกข้อมูลเหล่านั้นกลับมาใช้ง่าย
นอกจากนี้ทฤษฎีได้เสนอแนวคิดว่าการประมวลข้อมูลข่าวสารเป็นรูปแบบการเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์
(Connectionist model) กล่าวคือความรู้ทั้งหมดถูกเก็บไว้ในลักษณะการเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์
การบริหารควบคุมการประมวลข้อมูลของสมองคือการที่บุคคลรู้ถึงการคิดของตนและสามารถควบคุมการคิดของตนให้เป็นไปในทางที่ตนต้องการ
การรู้ลักษณะนี้ใช้ศัพท์ทางวิชาการว่า “metacognition”หรือ “การรู้คิด”ซึ่งหมายถึงการตระหนักรู้ (Awarness)
ว่าจะทำงานอะไร
จะใช้ความรู้หรือกลวิธีใด และจะประยุกต์กลวิธีนั้นอย่างไร ผู้เรียนจะตระหนักรู้ การรู้คิดของตนเอง
ผ่านกระบวนการวางแผน (Planning) การกำกับติดตาม (Monitoring) และการประเมินผล (Evaluating)
วูลโฟลก์ (woolfolk,1998
อ้างถึงใน Tootell & McGeorge,1998:19-20)
2.ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตัวเอง (Constructivism theory)
มีรากฐานมาจากทฤษฎีพัฒนาการทางปัญญาของเพียเจต์ (Piajet) และ วีก็อทสกี้ (Vygotsky) ซึ่งเป็นนักทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพุทธนิยม
(Cognitivism) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับ “cognition”
หรือกระบวนการรู้คิดหรือกระบวนการทางปัญญา ทฤษฎีนี้เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการพัฒนาทางสติปัญญาที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง
กระบวนการสร้างความรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น
และเกิดการดูดซึม ประสบการณ์ใหม่และปรับโครงสร้างสติปัญญาให้เข้ากับโครงสร้างใหม่ ซึ่งเพียเจต์ อธิบายว่าพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลมีการปรับตัวผ่านกระบวนการซึมซาบหรือดูดซึม
(Assimilation) และกระบวนการปรับโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation)
พัฒนาการเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและซึมซาบหรือดูดซึมเอาประสบการณ์ใหม่เข้าไปสัมพันธ์กับความรู้หรือโครงสร้างทางปัญญาเดิมเดิม
หากไม่สัมพันธ์หรือขัดแย้งกับความรู้หรือโครงสร้างทางสติปัญญาที่มีอยู่เดิมจะเกิดภาวะไม่สมดุล(Disequilibrium) บุคคลจะพยายามปรับให้อยู่ในภาวะสมดุล
(Equilibrium) โดยการปรับโครงสร้างทางปัญญา ในกระบวนการเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักเมื่อผู้เรียนเผชิญกับปัญหาหรือสิ่งที่ไม่รู้
ทำให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญญาและผลักดันให้ผู้เรียนไปแสวงหาความรู้และนำความรู้ใหม่มาเชื่อมความรู้เดิมเพื่อแก้ปัญหา
เป็นความรู้ที่เพิ่มอย่างมีความหมายเนื่องจากผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้นั้นด้วยตนเอง การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักจึงสะท้อนหลักคิดของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตัวเอง
3.ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ
(Theory of Cooperative or Collaborative Learning) คือการเรียนเป็นกลุ่มย่อยโดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ
3-6 คนช่วยกันเรียนเพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่มมีองค์ประกอบที่สำคัญ
5 องค์ประกอบดังนี้
1) การพึ่งพาและเกื้อกูลกัน
(Positive interdependence) หมายถึงการพึ่งพากันในทางบวกมี 2 ประเภทคือการพึ่งพาเชิงผลลัพธ์
คือการพึ่งพาในด้านการได้รับผลประโยชน์จากความสำเร็จของกลุ่มร่วมกัน
และการพึ่งพาในด้านกระบวนการทำงาน
คือการพึ่งพากันในด้านกระบวนการทำงานเพื่อให้งานกลุ่มสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายซึ่งต้องทำให้ผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มได้รับรู้ว่าตนเองมีความสำคัญต่อความสำเร็จของกลุ่ม
2) การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
(Face to face interaction) หมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ช่วยเหลือกัน
มีการติดต่อสัมพันธ์กัน การอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด การรับฟังเหตุผลของสมาชิกในกลุ่ม
จะทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน
เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รู้จักการทำงานร่วมกันทางสังคม
จากการช่วยเหลือสนับสนุนกัน ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
3) ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน
(Individual accountability) หมายถึงความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละคน
โดยต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ
กลุ่มจำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบผลงานทั้งที่เป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม
4) ใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการทำงานกลุ่ม
(Interpersonal and small group skills) หมายถึงทักษะที่สำคัญที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จ
เช่น ทักษะสังคม ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะการทำงานกลุ่ม
ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งการเคารพ ยอมรับ
ไว้วางใจกันและกัน
5) กระบวนการทำงานกลุ่ม
(Group processing) หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่ม โดยผู้เรียนต้องเรียนรู้จากกลุ่มให้มากที่สุด
มีความร่วมมือทั้งด้านความคิด
การทำงานและความรับผิดชอบร่วมกันจนสามารถบรรลุเป้าหมาย
การเรียนรู้แบบร่วมมือต้องวิเคราะห์กระบวนการทำงานของกลุ่มเพื่อช่วยให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นโดยการประเมินเกี่ยวกับวิธีการทำงานของกลุ่ม
พฤติกรรมสมาชิกในกลุ่มและผลงานกลุ่ม
จะเห็นว่าการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักแนวคิดที่สำคัญคือการเรียนเป็นกลุ่มย่อย
(Small–group learning) เป็นการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์
มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในกลุ่มผู้เรียน
ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนมีแนวคิดที่ชัดเจนขึ้น ช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ
(Develop effective collaboration skill) ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ และเรียนรู้วิธีจัดการกับความขัดแย้งเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน (Hemelo-Silver,2004:241)
4.ทฤษฎีการเรียนรู้โดยการค้นพบของบรุนเนอร์
(Bruner’s theory of Discovery learning) แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยการค้นพบของบรุนเนอร์คือการสร้างแรงจูงใจภายใน
(Intrinsic-motivation) ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
ให้มีความอยากรู้อยากเห็น อยากค้นพบสิ่งที่อยู่รอบตนเอง (Brunner,1977 อ้างถึงใน(Rideout,2001:25) มนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้เกิดจากกระบวนการค้นพบด้วยตัวเอง
(Discovery learning) ซึ่ง แบร์โรว์ (Barrows ,1985 อ้างถึงใน Tootell & McGeorge,1998:9 ; Rideout,2001:25) มีความเห็นว่าการเรียนรู้จะเพิ่มขึ้นเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้และเรียนจากปัญหา
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ โดยเฉพาะการสอนที่ใช้สถานการณ์จริง
(Real-case) ช่วยสร้างแรงจูงใจภายในในการเรียนรู้ เนื่องจากปัญหาสามารถท้าทายให้ผู้เรียนสนใจ
ซึ่งวิธีสอนแบบค้นพบมีรากฐานจากปรัชญาพิพัฒนนิยม
(Progressivism) มีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาแม่บทคือ
ปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ซึ่งให้ความสนใจมากต่อการ
“ปฏิบัติ”หรือ “การลงมือกระทำ” ดิวอี้ (Dewey) ได้นำแนวคิดนี้ไปทดลองและประยุกต์ใช้ในการศึกษา โดยเสนอแนะการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำหรือที่เรียกกันเสมอว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีเมื่อผู้เรียนลงมือปฏิบัติ
(Learning by doing)
5. หลักการการเรียนรู้จากประสบการณ์
(Experiential learning) เป็นหลักการจัดการเรียนรู้โดย โคลป์
(Kolb,1984) ได้เสนอวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งประกอบด้วย
4 ขั้นตอนคือ 1) การเรียนรู้ประสบการณ์รูปธรรม
(Concrete Experience-CE) 2) สังเกต ไตร่ตรองและใคร่ครวญ (Reflection Observation-RO) 3) สรุปเป็นแนวคิดนามธรรม (Abstract
Conceptualization-AC) และ 4) ประยุกต์หลักการไปใช้ในสถานการณ์ใหม่
(Active Experimentation-AE) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักใช้หลักการ
การเรียนรู้จากประสบการณ์ คือ เมื่อประสบปัญหา
หรือสถานการณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ต้องไตร่ตรอง สังเกตหาร่องรอยของสาเหตุปัญหา
ศึกษาค้นคว้าจนถ่องแท้ว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร
ทำความเข้าใจกับเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง จนกระทั่งสามารถสร้างความคิดรวบยอดหรือหลักการเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติในสถานการณ์จริง
6.
หลักการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง (Self–directed learning) การเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนนำตนเอง
สามารถช่วยฝึกฝนให้ผู้เรียนพึ่งพาตนเอง และพัฒนาตนเองได้
การนำตนเองและพึ่งพาตนเองจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายใน (Develop intrinsic
motivation to learn)
ซึ่งสามารถกระตุ้นความต้องการที่จะเรียนรู้และช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย
อันจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดี ได้มากและจดจำได้นานขึ้น
รวมทั้งนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น (ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์, ม.ป.ป
อ้างถึงในทิศนา แขมมณี ,2553:125) นอกจากนี้ผู้เรียนมีการเรียนรู้
(Learning style) ที่แตกต่างกันการที่ให้ผู้เรียนนำตนเองและเลือกวิธีการเรียนรู้เองจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดี
จากหลักการสู่ขั้นตอนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
ขั้นตอนของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก แต่ละสถาบันจะมีความแตกต่างกันตามแนวคิด
ขั้นตอนที่นำเสนอเป็นขั้นตอนของโรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมาสตริคส์
ประเทศเนเธอร์แลนด์มี 7 ขั้นตอนดังนี้ (Savin-Baden,2007:9)
1.ทำความข้าใจกับศัพท์และมโนทัศน์ (Clarify
terms and concepts not readily comprehension) ขั้นตอนแรกผู้เรียนต้องทำความเข้าใจกับคำศัพท์
หรือมโนทัศน์ของโจทย์ปัญหาที่ได้รับ หากมีคำศัพท์ หรือมโนทัศน์ใดที่ยังไม่เข้าใจ
หรือเข้าใจไม่ตรงกันจะต้องพยายามหาคำอธิบายให้ชัดเจนโดยใช้ความรู้เดิมของสมาชิกกลุ่ม
หรือในบางกรณีอาจต้องใช้พจนานุกรมมาอธิบาย
2. ระบุปัญหา
(Define the problem) หลังจากทำความเข้าใจกับคำศัพท์ หรือมโนทัศน์ในขั้นตอนแรกแล้ว กลุ่มผู้เรียนต้องช่วยกันระบุปัญหาจากโจทย์ปัญหาดังกล่าว
โดยสมาชิกกลุ่มจะต้องมีความเข้าใจต่อปัญหาที่ตรงกันหรือสอดคล้องกัน
3. วิเคราะห์ปัญหา
(Analyze the problem) สมาชิกกลุ่มจะระดมสมองช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาและหาเหตุผลมาอธิบาย
โดยอาศัยความรู้เดิมของสมาชิกในกลุ่ม เป็นการใช้ brain-stroming ในการช่วยกันคิดอย่างมีเหตุผล
สรุปรวบรวมความรู้และแนวคิดของสมาชิกเกี่ยวกับขบวนการและกลไกการเกิดปัญหา
เพื่อนำไปสู่การสร้างสมมุติฐานต่างๆ (hypothesis) อันสมเหตุสมผลสำหรับใช้แก้ปัญหานั้น
4. การตั้งและจัดลำดับความสำคัญของสมมุติฐาน
(Identify the priority of hypotheses Formulate hypotheses) หลังจากวิเคราะห์แล้ว กลุ่มจะช่วยกันตั้งสมมติฐานที่เชื่อมโยงปัญหาดังกล่าวตามที่ได้วิเคราะห์ในขั้นตอนที่
3 แล้วนำสมมุติฐานดังกล่าวมาจัดเรียงลำดับความสำคัญ
โดยอาศัยข้อมูลสนับสนุนจากความจริงและความรู้เดิมของสมาชิกในกลุ่ม
เพื่อหาข้อยุติสำหรับสมติฐานที่สามารถปฏิเสธได้ในขั้นต้น
และคัดเลือกสมมุติฐานที่สำคัญที่จำเป็นต้องแสวงหาความรู้มาเพิ่มเติมต่อไป
5. สร้างวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
(Formulate learning objective) ผู้เรียนร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในการแสวงหาข้อมูลที่จำเป็น
เพื่อนำมาใช้ในการพิสูจน์หรือล้มล้างสมมติฐานที่ได้คัดเลือกไว้
6. แสวงหาความรู้หรือข้อมูลเพิ่มเติมนอกกลุ่ม
(Collect additional information outside the group) สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มจะมีหน้าที่ในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
7. สังเคราะห์ข้อมูลและพิสูจน์สมมติฐาน
(Synthesize and test newly acquired information) วิเคราะห์ข้อมูลที่หามาได้เพื่อพิสูจน์สมติฐานที่วางไว้
สรุปผลเรียนรู้ที่ได้มาจากการศึกษาปัญหา รวมทั้งแนวทางในการนำความรู้
หลักการไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ทั่วไป
จากขั้นตอนดังกล่าวจะเห็นว่าขั้นที่
1)
เป็นการกระตุ้นความรู้เดิมซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อถ่ายโยงความรู้เดิมกับข้อมูลใหม่และประมวลเป็นความรู้ใหม่
ขั้นที่ 2) การทำความเข้าใจกับปัญหาที่ได้รับเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนจับประเด็นสำคัญ
พัฒนาการสรุปและการตั้งคำถามซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของระบบการเรียนรู้ของมนุษย์เพราะความเข้าใจและจดจำข้อมูลใหม่ได้ดีนั้นความรู้เดิมจำเป็นต้องถูกกระตุ้นหรือดึงออกมาโดยปัญหาหรือเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับบริบทของข้อมูลนั้นขั้นที่
3) เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะการช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาและหาเหตุผลมาอธิบายเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยให้ผู้เรียนขยายขอบเขตความรู้ความเข้าใจ
ได้มุมมองใหม่ที่แตกต่างจากตน ช่วยให้คิดกว้างและลึกซึ้งขึ้น ขั้นที่ 4) และ 5) เป็นการส่งเสริมการใช้ทักษะการคิดขั้นสูงในการวิเคราะห์จัดกลุ่มความสัมพันธ์
คิดถึงสมมุติฐานความเป็นไปได้ รวมทั้งการประเมินว่าอะไรที่ไม่รู้
ต้องการข้อมูลหรือความรู้ใดมาตอบคำถามหรืออธิบายเพื่อให้ได้คำตอบ ผู้เรียนเกิดการควบคุมการคิดของตนเองให้เป็นไปตามที่ต้องการ
(metacognition) โดยเฉพาะการที่ผู้เรียนกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ยิ่งทำให้การเรียนรู้มีแรงจูงใจภายในที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และขั้นที่
6) และขั้นที่ 7) ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
เป็นการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่ศึกษาเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย
เพราะผู้เรียนสามารถอธิบายด้วยภาษาของตนเอง เป็นการสร้างความรู้ใหม่จากความเข้าใจของตนเอง
ทำให้ข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ในความจำระยะยาวสามารถเรียกมาใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่เป็นความจำระยะสั้นที่ง่ายต่อการลืม
มีหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงว่าผลลัพธ์การจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักช่วยให้ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง
(active
learners) เรียนรู้อย่างมีความหมาย (meaningful learning) ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและเกิดการจัดเก็บข้อมูลไว้ได้ในระยะยาว (longer retention)
(Gallagher&Stepien,1996;Hung Bailey
&Jonassen,2003;Norman&Schmidt,1992 อ้างใน Hung,2006:55)
การสร้างโจทย์ปัญหา
โจทย์ปัญหาเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักประสบความสำเร็จ
(Duch,2001 อ้างถึงใน Hung,2006:55) เพราะโจทย์ปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้
มีความสำคัญที่จะทำให้การเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้
เป็นสิ่งที่กระตุ้นและผลักดันให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด อภิปราย
สร้างประเด็นการเรียนรู้ ศึกษาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง
และนำเสนอผลการเรียนรู้ ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการศึกษาหรือมโนทัศน์ที่ต้องการจากการศึกษา
ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นการเรียนรู้ของผู้เรียนกับวัตถุประสงค์ในการศึกษาขึ้นอยู่กับการตีความโจทย์
หลักในการสร้างโจทย์ปัญหาให้มีประสิทธิภาพ
1.
ต้องเชื่อมโยงกับพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียน
เนื่องจากความรู้เดิมที่เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ จะมีผลทำให้จดจำความรู้ใหม่ได้นาน
2.
ต้องมีข้อมูลบางส่วนที่ทำให้ความรู้เดิมของผู้เรียนไม่เพียงพอที่จะอธิบายหรือแก้ปัญหาได้
ต้องอาศัยความรู้เพิ่มเติมมาช่วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ใหม่มาเพิ่มเติม
นอกจากความรู้เดิมที่มีอยู่
3.
ควรสร้างให้คล้ายคลึงหรือเชื่อมโยงกับปัญหาจริงในอนาคตที่ผู้เรียนต้องประสบจริงในวิชาชีพ
เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่าการเรียนในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับของจริง ผู้เรียนจะสนใจ
สามารถจดจำ นำความรู้มาใช้และมีโอกาสที่จะแก้ปัญหาได้ดี (Tootell
& McGeorge,1998:19)
4.
ควรเป็นปัญหาที่กระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
ความสนใจในโจทย์ปัญหาจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองและความสามารถในการเรียนรู้
5.
ต้องนำไปสู่การเรียนรู้ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนกำหนดไว้
บทบาทผู้สอน
บทบาทของผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักได้แก่บทบาทในการกระตุ้นและสนับสนุนการเรียนรู้
(Facilitator)
ดังนี้ (วัลลี สัตยาศัย,2547:51-54)
1.
ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด (metacognitive
skill) หรือที่ ศ.นพ. พรจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ ได้ใช้คำในภาษาไทยว่า
โยนิโสมนสิการ ซึ่งมีความหมายว่า 1) การคิด ใคร่ครวญ และตรึกตรองอย่างแยบคายในการแก้ปัญหา
2) ความสามารถในการทบทวนความรู้เดิมและประสบการณ์เดิมนำมาใช้ในการแก้ปัญหา
3) ความสามารถในการสร้างสมมุติฐานและตัดสินใจว่า ควรสังเกต
ไต่ถาม ค้นคว้าเพิ่มเติมในสิ่งใด 4) เมื่อได้ข้อมูลใหม่
ใหม่มาแล้ว ต้องรู้จักพิจารณาว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่
รวมถึงคิดถึงแหล่งข้อมูลอื่นที่อาจมีประโยชน์ ตลอดจนสามารถทบทวนความรู้ใหม่ที่ได้มา
และเรียนรู้ว่าควรทำอะไรต่อไป กล่าวคือคือต้องไม่ให้ข้อมูลหรือถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรง
แต่ต้องใช้คำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดและตรึกตรองอย่างแยบคาย
2.
จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ดำเนินไป
โดยให้ผู้เรียนผ่านขั้นตอนของการเรียนรู้แต่ละขั้นโดยไม่เรียนลัด
และทุกขั้นตอนต้องดำเนินไปตามลำดับที่ถูกต้อง
3.
ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างลึกซึ้ง
และพยายามดึงความรู้หรือความคิดที่ฝังอยู่ออกมาให้ได้ ผู้สอนต้องพยายามให้ผู้เรียนอธิบายถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการอภิปราย นอกจากนี้การใช้คำศัพท์บางคำ
ต้องให้ผู้เรียนนิยามคำศัพท์นั้นๆ เพื่อที่จะให้แน่ใจว่ารู้และเข้าใจคำต่างๆอย่างถูกต้อง
เพื่อให้มีการเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง
4.
ช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม
โดยส่งเสริมให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันโดยผู้สอนไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลางการอภิปราย
5.
ดูแลความก้าวหน้าการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคนในกลุ่ม
โดยให้คิดและรู้จักตนเองว่ากำลังเรียนอยู่ในระดับใด ยอมรับจุดอ่อนของตนเองเพื่อแก้ไข
ในการเรียนเป็นกลุ่มย่อยผู้สอนจะสังเกตผู้เรียนที่มีปัญหาทางการเรียนได้ง่ายและรวดเร็ว
เช่นไม่สามารถใช้เหตุผลมาอธิบายให้เพื่อนเข้าใจได้ หรือไม่สามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้
ผู้สอนต้องพยายามแก้ไขโดยพยายามดึงให้เพื่อนช่วยกันเองเป็นส่วนใหญ่
บทบาทผู้เรียน
บทบาทผู้เรียนจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับฟังความรู้
(Passive
learning) เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Active
learning) บทบาทผู้เรียนในการเรียนวิธีนี้คือการพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักและทักษะการเรียนโดยการชี้นำตนเองตามกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว
ทักษะการทำงานเป็นทีม การให้ข้อมูลป้อนกลับ
สะท้อนความรู้สึกนึกคิดในประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเพื่อนและตนเอง
มุมมองเชิงวิพากษ์การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
ถึงแม้การเรียนการสอนแบบเดิมอาจจะช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนสบายใจว่าได้สอนและเรียนองค์ความรู้
ซึ่งท้ายสุดอาจเหลืออยู่กับผู้เรียนเพียงเล็กน้อย
โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว
การจัดการเรียนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักซึ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าความรู้
เป็นการเรียนการสอนที่ปรับเปลี่ยนบทบาทของผู้เรียนและผู้สอน
เนื่องจากแนวคิดและกระบวนการจัดการเรียนการสอนต่างจากการสอนแบบเดิมโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากในการที่จะเปลี่ยนวิธีการสอนแบบเดิมแต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งผู้สอนและผู้เรียน หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนให้ประสบความสำเร็จจึงเกิดจากความเชื่อ
(Belief) เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนว่ากระบวนการเรียนรู้จากการเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักจะช่วยแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษาไทยเผชิญอยู่เช่นการขาดทักษะการวิเคราะห์
สังเคราะห์ของผู้เรียนและพฤติกรรมการเรียนที่ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ (passive
learners) เพราะกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองจนสามารถเรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต (Lifelong Learner) นอกจากนี้การเรียนช่วยส่งเสริมผู้เรียนให้มีวัฒนธรรมความร่วมมือในการเรียนรู้
(Cooparative learning) โดยสมาชิกกลุ่มจะให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของกลุ่ม ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะทางสังคม และความแข็งแกร่งทางอารมณ์
เพราะมีโอกาสที่จะเผชิญกับความรู้สึกขัดแย้งและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ดังที่ บอนด์ (Bound ,1986 อ้างถึงใน Savin-Baden and Major,2004:6) กล่าวว่าการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักส่งเสริมให้ผู้เรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ไม่พึ่งพาผู้สอนเป็นแหล่งข้อมูลหลัก นำความรู้เดิมมาใช้
เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ เน้นการทำงานร่วมกัน
และบูรณาการหลากหลายสาขาวิชา
แม้ว่าการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักมีข้อดีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนหลายด้าน
แต่ก็พบปัญหาและอุปสรรคที่ผู้สอนและผู้เรียนต้องก้าวข้ามอุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้ได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านผู้สอน
ที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ผู้สอนมีภาระงานเพิ่มขึ้น ผู้สอนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจวิธีการเรียนการสอนและไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน
มีความเป็นห่วงในเนื้อหาวิชาว่าการที่ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจะมีความรู้
ไม่ลึกซึ้งเหมือนที่ตนจะสามารถอธิบายให้ฟังได้
ส่วนผู้เรียนไม่ชอบวิธีเรียนที่ต้องพึ่งตนเองและใช้เวลาในการเรียนมาก รู้สึกได้รับเนื้อหาทฤษฎีน้อยและเครียด
ผู้สอนหลายท่านจึงอดที่จะบรรยายเพิ่มเติมหลังจากนักศึกษาอภิปรายกันแล้วไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้
แนวคิดที่จะปลูกฝังให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองและและจัดเก็บข้อมูลไว้ในความจำระยะยาว
และเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิตจะล้มเหลว เนื่องจากผู้เรียนรู้ว่าถึงตนเองไม่ค้นคว้ามาก่อน
ผู้สอนก็จะบรรยายหรือสรุปให้ฟังท้ายชั่วโมง
หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนให้ประสบความสำเร็จจึงเกิดจากการพัฒนาทัศนคติเชิงบวกทั้งของผู้สอนและผู้เรียน การปลูกฝังวิธีเรียนรู้และทัศนคติที่ดีต่อการแสวงหาความรู้ การกระทำของผู้สอนทุกอย่างจะสะท้อนให้ผู้เรียนชอบหรือไม่ชอบต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ซึ่งต้องอาศัยความอดทน ความปรารถนาดีและความจริงใจ
ชี้แนะแนวทางประคับประคองให้ผู้เรียน มีความรู้สึกดีต่อการได้มีโอกาสเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตนเอง
บทสรุป
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักถึงแม้จะมีรากฐานมาจากกาเรียนการสอนในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพแต่ปัจจุบันได้ขยายไปสู่การเรียนในระดับพื้นฐาน การเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักเป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญวิธีหนึ่ง
ซึ่งช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ เนื่องจากผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าความรู้
ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
พัฒนาทักษะการใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจโดยมี “ปัญหา” เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกอยากรู้และต้องการแสวงหาความรู้มาแก้ปัญหา
การที่ผู้เรียนต้องหาความรู้อย่างต่อเนื่องทำให้การทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long
learning) เพราะความรู้เก่าที่ผู้เรียนมีอยู่แล้วจะถูกนำมาเชื่อมโยงให้เข้ากับความรู้ใหม่ตลอดเวลา การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานจึงเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนสามารถอยู่ในสังคมโลกที่ซับซ้อนได้อย่างกลมกลืน
ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พุทธศักราช 2545 และการการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น