ความหมาย
การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษาพยาบาล ในที่นี้ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนในรายวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ที่มีการสอนในเนื้อหาโดยตรงเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม หรือมีการสอดแทรกในรายวิชาโดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมทั้งจริยธรรมพื้นฐานทั่วไป และจริยธรรมในวิชาชีพการพยาบาล จากเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีแนวทางในการดำเนินการที่ดี ดังนี้
1. ต้องเริ่มตั้งแต่การวางแผนการสอน โดยการออกแบบการสอนในรายวิชาให้มีการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ หรือพัฒนาจริยธรรมนักศึกษาในประเด็นหรือหัวข้อใดให้ชัดเจน และวางแผนการสอนรายบท ระบุพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง มีรายละเอียดในเนื้อหาการสอน ระบุกิจกรรมการเรียนการสอน และวิธีการประเมินผลอย่างชัดเจน
2. ดำเนินการสอนตามรายละเอียดเนื้อหาและกิจกรรมในแผนการสอนที่กำหนดไว้
3. สรุปและประเมินผลการเรียนการสอน แยกตามหัวข้อคุณธรรมจริยธรรมที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ในแผนการสอน และรายงานผลการดำเนินงานรายวิชา
4.หัวข้อประเด็นคุณธรรมจริยธรรมที่นำมาพัฒนานักศึกษามาจาก
- TQF ในหัวข้อคุณธรรมจริยธรรม
- คุณลักษณะบัณฑิตของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี เรื่อง ความสุภาพ มีวินัย มีจิตอาสา และดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- เอกลักษณ์บัณฑิตในเรื่องการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์บนพื้นฐานความเอื้ออาทร
- จริยธรรมวิชาชีพการพยาบาล และจรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาล
- คุณธรรมจริยธรรมทั่วไปที่เป็นพื้นฐานของคนดี
5. กิจกรรมการเรียนการสอนที่นำมาใช้พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษา
ภาคทฤษฎี
- การบรรยายเนื้อหาตามหลักการหรือทฤษฎี
- การมอบหมายให้ศึกษาค้นคว้าทำรายงานตามหัวข้อที่กำหนด และนำเสนอรายงาน
- การวิเคราะห์อภิปรายสถานการณ์ หรือกรณีตัวอย่าง/กรณีศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นจริยธรรม โดยให้ระบุประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง และใช้หลักการหรือทฤษฎีจริยศาสตร์มาอธิบาย หรือตัดสินใจแก้ปัญหา
- ให้นักศึกษาเขียนเล่าเรื่องประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นจริยธรรม และแสดงความคิดเห็น
- ปฐมนิเทศให้นักศึกษาเข้าใจว่าต้องแสดงพฤติกรรมจริยธรรมเรื่องใดบ้าง เช่น การแต่งกาย กริยามารยาท ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา การแสดงท่าที การใช้คำพูด เป็นต้น
- บูรณาการกับงานกิจกรรมนักศึกษา/งานพัฒนานักศึกษา โดยการจัดทำโครงการพัฒนาพฤติกรรมจริยธรรมนักศึกษาให้มีคุณลักษณะบัณฑิตของวิทยาลัย โครงการจิตอาสา เป็นต้น
- การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา เช่น ให้นักศึกษานำมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการเรียน นำมาใช้พิจารณาการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยกรณีศึกษาให้สอดคล้องตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ภาคปฏิบัติ
- ให้นักศึกษาเขียนเล่าประสบการณ์และความคิดเห็นประจำวันตามหัวข้อที่กำหนด (Journal Writing) ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาล อาจารย์ให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ(Feed back) และให้เพื่อนร่วมแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็น
- ประชุมปรึกษาก่อน และหลังการฝึกปฏิบัติการพยาบาลประจำวัน โดยมีการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น/ปัญหาจริยธรรมทางการพยาบาล ให้แสดงความรู้สึก และอภิปรายผลกระทบและแนวทางการแก้ปัญหา
- ประชุมปรึกษากรณีศึกษาทางการพยาบาล( Case Conference) โดยกำหนดหัวข้อประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยกรณีศึกษา
- การทำรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วย( Case Study) โดยกำหนดหัวข้อรายงานให้มีประเด็นด้านจริยธรรมทางการพยาบาล และแนวทางการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจริยธรรมทางการพยาบาล
- สอดแทรกในกระบวนการพยาบาล โดยระบุหลักจริยธรรมที่นำมาใช้ เช่น ในขั้นการประเมินสภาพผู้ป่วย การรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์หรือการตรวจร่างกาย ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านของผู้ป่วย ความพร้อมและการยินยอมของผู้ป่วย มิใช่มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ของนักศึกษาให้ได้ข้อมูลมาทำรายงานเพียงอย่างเดียว ท่าทีและการใช้คำถามที่เหมาะสมคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ป่วย
- ปฐมนิเทศให้นักศึกษาเข้าใจว่าต้องแสดงพฤติกรรมจริยธรรมเรื่องใดบ้าง เช่น การแต่งกาย กริยามารยาท ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา การแสดงท่าที การใช้คำพูด เป็นต้น
- การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา เช่น ให้นักศึกษา นำมาใช้พิจารณาการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยในความดูแล การทำกิจกรรมการพยาบาล การให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การทำรายงาน/ประชุมปรึกษาในผู้ป่วยที่เลือกศึกษา ให้สอดคล้องตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต การพยาบาลครอบครัวและชุมชน
- การเป็นแบบอย่างในการแสดงพฤติกรรมจริยธรรม และการพยาบาลแบบเอื้ออาทร เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ ของอาจารย์พยาบาล
6. การประเมินผล
ให้ระบุวิธีการประเมินผลและเครื่องมือที่ใช้ประเมินผลไว้ในการออกแบบการสอน และในแผนการสอนรายบท เช่น การสอบวัดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา การสังเกตพฤติกรรมการแสดงออก การใช้แบบประเมินพฤติกรรมด้านต่างๆ การกำหนดรายละเอียดหัวข้อการประเมิน/ให้คะแนน การใช้แบบประเมินการทำรายงาน การนำเสนอรายงาน แบบประเมินการประชุมปรึกษา แบบประเมินการปฏิบัติการพยาบาล แบบประเมินการเขียน Journal Writing แบบประเมินเจตคติ แบบประเมินการทำงานกลุ่ม เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น