วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย

ความหมาย
                การเตรียมเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย ในที่นี้หมายถึง การเตรียมความพร้อมของผู้วิจัยเพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ทำแล้วเสร็จไปสู่เวทีวิชาการ 3 รูปแบบ คือ 1.การเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการพูด(Oral Presentation)  2.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์(Poster Presentation)  3.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง
1.การเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการพูด(Oral Presentation)
            เมื่อท่านทำวิจัย หรือมีผลงานวิจัยที่ทำแล้วเสร็จ ท่านควรหาเวทีไปนำเสนอผลงานได้ทั้งในและต่างประเทศโดยการเตรียมความพร้อม ดังนี้
1.ค้นหาแหล่ง/การจัดประชุมที่จะไปนำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น จากจดหมายประชาสัมพันธ์  การประชาสัมพันธ์ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์
2.สมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงาน โดยระบุวิธีการนำเสนอด้วยการพูด ศึกษาวิธีการลงทะเบียนให้ละเอียด เช่น ลงทะเบียนด้วยจดหมายราชการ โทรสาร ทาง e-mail การจ่ายค่าลงทะเบียน และต้องการให้ส่งเอกสารประกอบการสมัครอะไรบ้าง (ถ้าต่างประเทศให้ดูที่ Call for Abstract)
3.ติดตามผลการตอบรับให้ไปนำเสนอจากผู้จัด ระหว่างรอผลการตอบรับควรเตรียมเนื้อหาการนำเสนอไปพร้อมกันด้วย
4.เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ศึกษารายละเอียดของวิธีการนำเสนอให้ดี ผู้จัดจะแจ้งเวลาและขั้นตอนการนำเสนอมาให้ว่าใช้เวลาคนละกี่นาที ภาษาที่ใช้นำเสนอ สถานที่/ห้องประชุม สื่อประกอบการพูด เช่น power  point ผู้จัดให้นำสื่อไปเตรียมลงเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนเวลาพูดเมื่อไร ที่ใด เพื่อจะได้เตรียมตัวล่วงหน้าได้ทันตามกำหนดเวลา
5.ออกแบบและผลิตสื่อที่จะใช้ประกอบการพูด โดยกำหนดหัวข้อเรื่อง เนื้อหา รูปภาพ รูปกราฟ หรือ ตาราง เฉพาะที่มีความสำคัญ เหมาะสมกับเวลาที่จะนำเสนอ เช่น จำนวนกี่สไลด์ เลือกใช้ตัวอักษร สีตัวอักษรและสีพื้นสไลด์ที่เหมาะสม ดึงดูดความสนใจ  อ่านง่ายชัดเจน สบายตา มีใจความสำคัญที่ต้องการจะนำเสนอ ครบ  เข้าใจง่าย โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
6.เตรียมตัวเรื่องการพูด โดยซ้อมพูดล่วงหน้าให้ได้ทันตามกำหนดเวลา และเตรียมเรื่องภาษาที่ใช้พูด
7.ศึกษาเรื่องสถานที่จัดประชุม ที่พัก และการเดินทางล่วงหน้า เพื่อไปนำเสนอได้ทันกำหนดเวลา
8.จัดเตรียมงบประมาณในการเดินทาง / ที่พัก และหลักฐานการเบิกจ่ายตามระเบียบการเบิกจ่ายฯ

2.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์(Poster Presentation) 
1.ค้นหาแหล่ง/การจัดประชุมที่จะไปนำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น จากจดหมายประชาสัมพันธ์ หรือการประชาสัมพันธ์ทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
2.สมัครลงทะเบียนไปนำเสนอผลงาน โดยระบุวิธีการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ ศึกษาวิธีการลงทะเบียนให้ละเอียด เช่น ลงทะเบียนด้วยจดหมายราชการ โทรสาร ทาง e-mail การจ่ายค่าลงทะเบียน และต้องการให้ส่งเอกสารอะไรประกอบการสมัครบ้าง (ถ้าต่างประเทศให้ดูที่ Call for Abstract)
3.ติดตามผลการตอบรับให้ไปนำเสนอจากผู้จัด ระหว่างรอผลการตอบรับควรเตรียมเนื้อหาสำหรับการนำเสนอไปพร้อมกันด้วย
4.เมื่อได้รับการตอบรับแล้ว ศึกษารายละเอียดของโปสเตอร์ให้ดี ผู้จัดจะแจ้งขนาดของโปสเตอร์มาว่าต้องเตรียมโปสเตอร์ขนาด กว้าง x ยาว เท่าไร ใช้ติดบนพื้นที่แบบใด ซึ่งมีความสำคัญมาก จะต้องทำขนาดให้ตรงตามขนาดที่แจ้งมา เพราะจะพอดีกับพื้นที่ที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ติดแสดงโปสเตอร์ มิฉะนั้นจะหาที่ติดโปสเตอร์ไม่ได้ รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์การติด เช่น ต้องเจาะมุมใส่ห่วง หรือติดด้วยเทปกาว หรือเตรียมที่แขวน ซึ่งจะต้องออกแบบให้เก็บโปสเตอร์ในการเดินทางได้สะดวกไม่ชำรุดง่าย ทั้งทางรถยนต์ ทางเครื่องบิน
5.ออกแบบโปสเตอร์ ต้องการให้มีอะไรบนโปสเตอร์บ้าง เช่น จำนวนหัวข้อเรื่อง จำนวนข้อความเนื้อหาใจความสำคัญที่ต้องการนำเสนอ จำนวนรูปภาพ รูปกราฟ หรือตาราง โดยเลือกเฉพาะที่มีความสำคัญ เหมาะสมกับขนาดของโปสเตอร์ เพื่อมิให้ตัวอักษรเล็กเกินไป ควรมีความเชื่อมโยงกัน และเลือกใช้สีที่เหมาะสมดึงดูดความสนใจโดดเด่น  อ่านได้ชัดเจน เข้าใจง่าย ภาษาที่ใช้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
6.เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม สวยงาม คงทน สะดวกในการพกพาเดินทางได้อย่างปลอดภัย ไม่ยับง่าย มีกล่องใส่ หรือมีปลอกหุ้มเวลาเดินทาง เช่น เป็นแบบ Out door หรือ In door
7.หาแหล่ง/ร้านรับจ้างทำโปสเตอร์ที่มีความสวยงามชัดเจน เสร็จทันตามกำหนดเวลา โดยสอบถามหาข้อมูลจากผู้ที่เคยจ้างทำ
8.จัดเตรียมงบประมาณในการทำโปสเตอร์ไว้ล่วงหน้า และขอใบเสร็จรับเงินตามระเบียบการเบิกพัสดุฯ
9.วางแผนเรื่องการอธิบาย หรือ ตอบคำถาม กรณีที่มีผู้ซักถาม
10.ศึกษาเรื่องเวลา และสถานที่ ที่ผู้จัดกำหนดให้ไปติดโปสเตอร์ล่วงหน้า รวมทั้งวางแผนการเดินทางและจองที่พักล่วงหน้า ถ้าเป็นต่างประเทศต้องเตรียมเรื่องหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน และภาษาที่ใช้สื่อสาร

3.การนำเสนอผลงานวิจัยด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง
1.วางแผนเตรียมการเรื่องการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การวางแผนทำวิจัย และศึกษาข้อมูลว่ามีวารสารเล่มใดที่สนใจ เป็นวารสารที่ได้รับการรับรองในระดับใด ตรงตามเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่  หัวข้อเรื่องที่ทำวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยสอดคล้องกับแนวทางของวารสารที่ต้องการหรือไม่ การได้ลงตีพิมพ์ในวารสารจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร จะได้เตรียมการของบประมาณไว้ล่วงหน้า หรือต้องสมัครเป็นสมาชิกของวารสารเล่มนั้นติดต่อกันกี่ปี จะได้เตรียมการสมัครสมาชิกไว้ล่วงหน้า
                2.จัดเตรียมบทความต้นฉบับที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ โดยกำหนดหัวข้อเรื่อง และรายละเอียดของเนื้อหาว่าต้องการหัวข้อใดบ้าง ความยาวแต่ละหัวข้อมากน้อยเท่าไร รวมทั้งหมดไม่เกินกี่หน้า (โดยประมาณ 15-25 หน้า) ตามที่บรรณาธิการกำหนดแบบฟอร์ม และจำนวนหน้าไว้ ถ้าไม่ดำเนินการตามนั้น อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาเนื่องจากวารสารแต่ละเล่มจะวางโครงสร้างจำนวนเรื่องและจำนวนหน้าไว้แล้ว ถ้าขาดหรือเกินจะไม่มีพื้นที่ให้ตีพิมพ์
                3.เขียนบทความวิจัยตามหัวข้อและความยาวที่วางแผนไว้ โดยเขียนขึ้นใหม่ให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง และเน้นความสำคัญที่ต้องการเสนอให้ผู้อ่านทราบ ไม่ใช่การย่องานวิจัยเล่มใหญ่ทุกหัวข้อแบบสั้นๆ
                4.อ่านทบทวนตรวจสอบการสะกดถูกต้อง เนื้อหา ระเบียบวิธีวิจัย การเขียนอ้างอิง และบรรณานุกรมตามระบบที่วารสารกำหนด แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง
             5.ส่งบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ แล้วต้องติดตามผลกับทางบรรณาธิการเป็นระยะๆ ถ้ามีการแก้ไข ทางบรรณาธิการจะส่งต้นฉบับกลับมา ผู้เขียนควรรีบดำเนินการแก้ไข เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะขาดความต่อเนื่องและหลงลืมประเด็นได้ ถ้ามีข้อสงสัยควรติดต่อกลับไปถามหรือเจรจาต่อรองกับบรรณาธิการให้เข้าใจตรงกัน
                6.ส่งต้นฉบับบทความกลับไปที่บรรณาธิการเพื่อการตีพิมพ์ใหม่ แล้วติดตามเป็นระยะเช่นเดียวกับข้อ 5 ข้อสำคัญคือต้องจดจ่อ ไม่ย่อท้อ ให้กำลังใจตนเองจนกว่าจะทำได้สำเร็จและได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการที่ได้รับการรับรอง

3 ความคิดเห็น:

  1. บทคัดย่อ

    เรื่อง ผลของการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง
    เพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3
    ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนเทศบาลวัดนาควารี

    ชื่อผู้รายงาน นางพุมรินทร์ ไฝชู
    โรงเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดนาควารี
    ปีที่ทำการวิจัย 2557

    การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจองให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลชั้นปีที่ 3 ระหว่างก่อนกับหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจองกลุ่มตัวอย่างประชากรเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลชั้นปีที่ 3 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ของโรงเรียนเทศบาลวัดนาควารี จำนวน 26 คน โดยดำเนินการทดลองเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง จำนวน 24กิจกรรม แผนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง จำนวน 24 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการการพูดแบบประเมินพฤติกรรมความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดและแบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( )และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( )
    ผลการศึกษาพบว่า (1) ประสิทธิภาพของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.25/80.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80 (2)
    ผลการพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจองปรากฏว่า การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจองสามารถพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ (3) ผลการเปรียบเทียบความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3ระหว่างก่อนและหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง ปรากฏว่าหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดสูงขึ้นก่อนการจัดกิจกรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน (4) ผลการศึกษาด้านความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลชั้นปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์การสร้างภาพด้วยการปั้นประกอบคำคล้องจอง ปรากฏว่า นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก( = 2.92)

    ตอบลบ
  2. บทคัดย่อ

    ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
    ชื่อผู้ศึกษา นางสาวจุฑามาศ ปักแก้ว
    หน่วยงาน โรงเรียนเกษมบ้านนาคำ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
    อุบลราชธานี เขต 2
    ปีที่ศึกษา 2560


    การศึกษาค้นคว้าเรื่อง รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และ 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์
    กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเกษมบ้านนาคำ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) (บุญชม ศรีสะอาด 2545 : 45) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้แก่ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 10 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียน โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบความแตกต่างของคะแนนผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยค่า t (t-test Dependent Sample)





    ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า

    1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.66 / 87.40 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ 80/80
    2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
    3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ชีวิตพืชและชีวิตสัตว์ โดยรวมทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.56

























    ตอบลบ
  3. ชื่อเรื่อง : ผลการใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้
    อวัยวะบนใบหน้า สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
    ของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา
    ผู้วิจัย : นางไรหนับ หมัดสะอิ
    ปีที่ พ.ศ. : 2563
    หน่วยงาน : ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา

    บทคัดย่อ

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาผลการใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลาและเปรียบเทียบความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า โดยใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า ก่อนและหลังการทดลองสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จากการทดสอบด้วยแบบทดสอบสติปัญญามาตรฐาน และไม่พบความบกพร่องซ้ำซ้อน กำลังศึกษาอยู่ในระดับห้องเตรียมความพร้อม 3 ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2563 จำนวน 5 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง(Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แผนการจัดการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า โดยใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา, สื่อการสอน อวัยวะของเรา และ แบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียนผลการใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า สำหรับเด็กทีมีความบกพร่อง ทางสติปัญญา ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าเฉลี่ย และการทดสอบค่าที
    ผลการวิจัย พบว่า
    1. ผลการใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา อยู่ในระดับดี
    2. ความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า โดยใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้อวัยวะบนใบหน้า สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา หลังได้รับการสอนสูงกว่าก่อนได้รับการสอนโดยใช้สื่อการสอน อวัยวะของเรา

    ตอบลบ