วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การสังเคราะห์งานวิจัยเรื่อง การพัฒนามาตรฐานทางคลินิกเรื่องการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูด

           การดูดกลืนทางปากนับเป็นปัญหาที่สำคัญของทารกคลอดก่อนกำหนด และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีระยะเวลานานในการอยู่โรงพยาบาลส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการให้การดูแลรักษาพยาบาล พยาบาลต้องมีความเข้าใจ สามารถประเมินพฤติกรรมของทารกคลอดก่อนกำหนดในการแสดงความพร้อมของการดูดนมทางปากได้ คณะผู้วิจัยเน้นให้เห็นปัญหาของการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นประโยชน์และความจำเป็นในการจัดทำมาตรฐานทางคลินิก เพื่อใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานของพยาบาล ซึ่งช่วยให้พยาบาลมีแนวทางการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด และมีแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน อันจะมีผลดีต่อการบริการ และคุณภาพชีวิตของทารกคลอดก่อนกำหนดและครอบครัว
          การวิจัยครั้งนี้มีประโยชน์ยิ่งต่อระบบบริการสุขภาพ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาระบบการทำงานในหน่วยทารกคลอดก่อนกำหนดทั้งในโรงพยาบาลสระบุรี และหน่วยบริการสุขภาพอื่น  โดยจุดเด่นของการวิจัยนี้ คือมีขั้นตอนการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
การสังเคราะห์วิจัยครั้งนี้ มุ่งสังเคราะห์ในประเด็นข้อค้นพบจากผลงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยมุ่งขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆในระบบบริการสุขภาพที่สามารถจะใช้ประโยชน์จากการวิจัยครั้งนี้ต่อไป รวมทั้งการวิจัยต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัย
          เป้าหมายสูงสุดของของการสังเคราะห์งานวิจัยในครั้งนี้ มุ่งที่จะค้นหาจุดอ่อนและจุดแข็งของงานวิจัย ตลอดจนแนวทางการพัฒนา เพื่อชี้นำกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยครั้งนี้ได้นำไปใช้ได้สอดคล้องกับภารกิจ  ดังนั้นจึงกำหนดวัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัยไว้ดังนี้
1.เพื่อค้นหาข้อค้นพบใหม่จากงานวิจัยพัฒนามาตรฐานทางคลินิกเรื่องการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด
2. เพื่อค้นหาจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวทางการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกในการทำวิจัยครั้งต่อไป
กระบวนการสังเคราะห์งานวิจัย
          การสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ
1.ทบทวนงานวิจัยจำนวน 1 เรื่อง เรื่อง การพัฒนามาตรฐานทางคลินิกเรื่องการตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด หอผู้ป่วยเด็ก 3 ณ โรงพยาบาลศูนย์ สระบุรี  ผู้วิจัยคือ 1.ดร.จรรยาณี กริฟฟิน อ.วราภรณ์ จันทร์ส่อง อ.ประกริต รัชวัตร์ อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี  นางกนกลักษณ์ คัมภิรานนท์ นาง พรปวีณ์ ภาษี นางจินตนา นิ่มสุนทร และนางสาวสุกัญญา                  สุขภิรมย์ นางทองภรณ์ จันทร์ภิบาล พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสระบุรี   ซึ่งเป็นวิจัยที่มีจุดเด่นในการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกโดยมีขั้นตอนพัฒนามาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์  การตรวจสอบโดยประชาพิจารณ์จากผู้ปฏิบัติงาน การตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิและการศึกษาความเป็นไปได้โดยการนำไปทดลองใช้จริง
2.สังเคราะห์งานวิจัยถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อค้นพบ โดยจำแนกประเด็นสำคัญที่สนใจดังนี้
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ระเบียบวิธีวิจัย ข้อค้นพบเดิม ข้อค้นพบใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่ ประโยชน์ และโจทย์วิจัยใหม่ 
ข้อค้นพบจากการสังเคราะห์งานวิจัย
          จากแนวทางการสังเคราะห์แม้ว่าจะมีการสังเคราะห์ดังการจำแนกประเด็นสำคัญที่กล่าวข้างต้น แต่ เป้าหมายสำคัญของการนำเสนอผลการสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การนำผลการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกไปขยายผลในกลุ่มเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ซึ่งจะขอนำเสนอโดยอธิบายตามรายข้อค้นพบตามในลำดับต่อไปนี้
1.การวิจัยเชิงพัฒนานี้จัดว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น มีการจัดทำมาตรฐานการให้นมทางปากโดยการดูดเป็นรูปธรรม และมีการทดลองใช้มาตรฐานในคลินิกเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานกับพยาบาลกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7 ท่านซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยทารกคลอดก่อนกกำหนด  ซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้ในการนำมาตรฐานไปใช้จริง ด้านการปฏิบัติทั้ง  6 ด้าน ที่ระดับมากมากที่สุดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติและกิจกรรมที่มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ตามบริบทของโรงพยาบาลสระบุรี
          2.นอกเหนือจากประโยชน์โดยตรงในใช้มาตรฐานเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการให้นมทางปากของพยาบาล    การใช้มาตรฐานดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล  การลดอัตราการกลับเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการจำหน่ายจากโรงพยาบาล  และลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางปาก เช่น สำลัก หยุดหายใจ เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัย
  ในการสังเคราะห์งานวิจัยไม่เพียงแต่ค้นพบจุดแข็ง ในเรื่องการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกที่มีขั้นตอนที่เหมาะสมแล้วยังได้ข้อค้นพบใหม่จากการสังเคราะห์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ดังนี้
1.กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ แม้ว่างานวิจัยนี้จะระบุกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พยาบาลในหน่วยทารกคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามหลังการสังเคราะห์งานวิจัย พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะน่าจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ ได้แก่
  1.1 กลุ่มงานบริการพยาบาล สามารถนำมาตรฐานครั้งนี้ มาพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเพิ่มคุณภาพในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนด โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงมาตรฐานตามการเปลี่ยนแปลงของหลักฐานเชิงประจักษ์ ทุก 1 ปี
  1.2 หน่วยงานอื่นในกลุ่มการพยาบาลสามารถนำแนวทางการพัฒนามาตรฐานทางคลินิกไปใช้เป็นต้นแบบการพัฒนามาตรฐานการพยาบาลด้านอื่นๆ
            1.3. หน่วยทารกคลอดก่อนกำหนด ในโรงพยาบาลต่างๆ สามารถนำมาตรฐานนี้ไปพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทในหน่วยงานของตนเอง
  1.4 อาจารย์พยาบาลในสถาบันการศึกษาสามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้สอนนักศึกษาพยาบาลทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
  จึงควรมีการประชาสัมพันธ์ผลการวิจัยครั้งนี้ไปยังหน่วยทารกคลอดก่อนกำหนดในสถานบริการ
สุขภาพ และสถาบันการศึกษาพยาบาลต่างๆ โดยมีการติดตามผล และขยายผลไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นการจัดการความรู้ในเรื่องนี้ต่อไป
2.ประเด็นการวิจัยครั้งต่อไป คณะผู้สังเคราะห์งานวิจัยมีความเห็นว่าควรจะมีการต่อยอดองค์ความรู้ในเรื่อง การศึกษาประสิทธิผลจากการนำมาตรฐานทางคลินิกเรื่อง การตัดสินใจในการให้นมทางปากโดยการดูดในทารกคลอดก่อนกำหนดไปใช้ในหอผู้ป่วย โดยประเมินการลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล  การลดอัตราการกลับเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการจำหน่ายจากโรงพยาบาล และลดปัญหาภาวะ แทรกซ้อนจากการให้อาหารทางปาก เช่น สำลัก หยุดหายใจ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น