วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สังเคราะห์ผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนารูปแบบการรำโทน

       การรำโทนเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ชาวไทยวนสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการปลุกใจชาวบ้านและการผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งสร้างความสามัคคีปรองดอง รักใคร่กลมเกลียวและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน ซึ่งการรำโทนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยวน ของชุมชนต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยชุมชนดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านสุขภาพและวัฒนธรรมของนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
งานวิจัยที่เลือกมาสังเคราะห์ในครั้งนี้ เป็นวิจัยที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านคือ การรำโทนของชุมชนไทยวน จังหวัดสระบุรี เพื่อมิให้สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่งในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นพันธกิจหนึ่งของวิทยาลัยพยาบาล ผู้วิจัยได้มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งได้มีการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และอนุรักษ์สืบต่อไป  โดยบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และนำมาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภายในวิทยาลัย  
การสังเคราะห์วิจัยครั้งนี้ มุ่งสังเคราะห์ในประเด็นข้อค้นพบจากผลงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อ
กลุ่มประชาชนในชุมชนต้นตาล ทั้งในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ครูในสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนต้นตาล  กลุ่มบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในตำบลต้นตาล-พระยาทด ในแง่มุมทั้งด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมสุขภาพ ทั้งในส่วนของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับชุมชนสามารถช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้เรียนได้เป็นอย่างดียิ่ง
วัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัย
          เป้าหมายสูงสุดของของการสังเคราะห์งานวิจัยในครั้งนี้ มุ่งที่จะค้นหาจุดอ่อนและจุดแข็งของงานวิจัย ตลอดจนแนวทางการพัฒนา เพื่อชี้นำกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยครั้งนี้ได้นำไปใช้ได้สอดคล้องกับภารกิจ  ดังนั้นจึงกำหนดวัตถุประสงค์ของการสังเคราะห์งานวิจัยไว้ดังนี้
1.       เพื่อค้นหาข้อค้นพบใหม่จากงานวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน 
2.       เพื่อค้นหาจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวทางการพัฒนาในประเด็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในการทำวิจัยครั้งต่อไป
กระบวนการสังเคราะห์งานวิจัย
          การสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ
1.         ทบทวนงานวิจัยจำนวน 1 เรื่อง คือวิจัยชื่อ กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนารูปแบบการรำโทนของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ผู้วิจัยคือนางพเยาว์  พงษ์ศักดิ์ชาติ     นางสุจิรา  เหลืองพิกุลทอง และนางนัยนา  ภูลม ซึ่งเป็นวิจัยที่มีจุดเด่นในการพัฒนารำโทนรูปแบบใหม่โดยใช้กระบวนการวิจัยที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม
2.  สังเคราะห์งานวิจัยถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อค้นพบ โดยจำแนกประเด็นสำคัญที่สนใจดังนี้ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ระเบียบวิธีวิจัย ข้อค้นพบเดิม ข้อค้นพบใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่ ประโยชน์ และโจทย์วิจัยใหม่ 
ข้อค้นพบจากการสังเคราะห์งานวิจัย
          จากแนวทางการสังเคราะห์แม้ว่าจะมีการสังเคราะห์ดังการจำแนกประเด็นสำคัญที่กล่าวข้างต้น แต่ เป้าหมายสำคัญของการนำเสนอผลการสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การนำผลการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่ไปขยายผลในกลุ่มเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ซึ่งจะขอนำเสนอโดยอธิบายตามรายข้อค้นพบตามในลำดับต่อไปนี้
1.         การรำโทนรูปแบบใหม่เป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งพบว่าท่ารำของการรำโทน  ระยะเวลา ดนตรีที่ใช้ประกอบ จะสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้รำได้ เพราะเนื้อหาของเพลงที่มาประกอบการรำมีความสนุกสนาน สร้างความเพลิดเพลนแก่ผู้รำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเนื่องจากท่ารำเป็นท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวที่รุนแรงต่อกระดูกและกล้ามเนื้อของ   ผู้รำ
2.    การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวจะสามารถเชื่อมความสัมพันธภาพที่ดีของสถาบันการศึกษากับชุมชนในท้องถิ่น เพราะชุมชนเป็นฐานความรู้ที่ดีเยี่ยมที่จะให้นักศึกษาเข้าไปศึกษา และตอบสนองปรัชญาของสถาบันการศึกษามุ่งจัดการศึกษาที่เน้นชุมชนโดยเฉพาะวิทยาลัยพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การที่สถาบันการศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้านส่งผลให้เกิดการคุณค่า ความภาคภูมิใจต่อชุมชน รวมทั้งนักศึกษาที่เข้าไปเรียนรู้เกิดการความซาบซึ้งต่อคุณค่าศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งเพราะได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้นักศึกษาจะสามารถเข้าใจบริบทของชุมชน โครงสร้างและการประสานงานกับชุมชน
3.              การสร้างรายได้สู่ชุมชน จากการส่งเสริมการใช้ผ้าทอพื้นเมืองเป็นการแต่งกายของผู้รำโทน ซึ่งผ้าทอพื้นเมืองมีการผลิตในชุมชน ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรีมาช้านาน ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ในการแต่งกายในกิจกรรมต่าง ๆ จะเป็นช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างรายได้ให้คนในชุมชนต่อไป
ประโยชน์ที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัย
  ในการสังเคราะห์งานวิจัยไม่เพียงแต่ค้นพบจุดแข็ง ในเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งได้มีการพัฒนาการรำโทนรูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่  โดยบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภายในวิทยาลัย  แล้วยังได้ข้อค้นพบใหม่จากการสังเคราะห์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ดังนี้
1.    กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ แม้ว่าผู้ดำเนินงานวิจัยนี้จะระบุกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้รู้ด้านการรำโทน และนักศึกษาพยาบาลแล้ว อย่างไรก็ตามหลังการสังเคราะห์งานวิจัย พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะน่าจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ ได้แก่  ประชาชนในชุมชนต้นตาล ทั้งในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ จะสามารถการรำโทนรูปแบบใหม่เป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพ ในส่วนของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นต่อไป โดยผ่านกิจกรรมเสริมหลักสูตรโดยครูในสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนต้นตาล  กลุ่มบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในตำบลต้นตาล-พระยาทด จะสามารถนำการรำโทนรูปแบบใหม่มาส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชน
    สำหรับกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับชุมชนสามารถช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้เรียนได้เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ตามสภาพจริงในประเด็นอื่น ๆ  เช่น ภาวะสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และจะเป็นประโยชน์ต่อเทศบาลตำบลต้นตาล-พระยาทด และวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี นำศิลปะการรำโทนของชุมชนต้นตาลไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชน
2.    ประเด็นการวิจัยครั้งต่อไป คณะผู้สังเคราะห์งานวิจัยมีความเห็นว่าควรที่จะมีการต่อยอดองค์ความรู้ในเรื่องที่เน้นถึงภาวะสุขภาพ จึงควรมีการศึกษาผลของการรำโทนต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และการคลายเครียด โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงทดลองเพื่อประเมินประสิทธิผลของการรำโทนต่อสุขภาพต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น