วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การจัดการศึกษาพยาบาลสำหรับศตวรรษที่ 21



วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
รายงานสรุปสาระสำคัญของการประชุมวิชาการ
เรื่อง “การจัดการศึกษาพยาบาลสำหรับศตวรรษที่ 21”
ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ วันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2557
……………………………
                                                                                       โดย อ. วารุณี  มีเจริญ
การจัดการศึกษาวิชาชีพสุขภาพเพื่อการเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน (กำจร  ตติยกวี, 2557)
          การจัดการศึกษาในวิชาชีพด้านสุขภาพในปัจจุบันควรมุ่งเน้นที่การพัฒนาคนสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล โดยใช้หลักสูตรที่ได้การรับรองในระดับอาเซียนหรือระดับโลกเพื่อให้เกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญได้แก่ 7 Cs skill of 21st Century Learning
1.       Critical thinking and problem solving-เรียนรู้แนวคิดและลักษณะสังคมไทยอย่างวิเคราะห์วิจารณ์
2.       Creativity and innovation – เข้าใจวัฒนธรรมอาเซียนและวัฒนธรรมตะวันตกในเรื่องที่มาและผลกระทบ
3.       Collaboration, Teamwork and Leader-รู้จักตนเองพร้อมมองเห็นคุณค่าที่แท้ของสิ่งของและนวัตกรรม
4.       Cross-culture understanding-เข้มแข็งในจริยธรรม ความรับผิดชอบและความดีความงามของสังคมไทยและอาเซียน
5.       Communications, Information and Literacy-ตามทันกระบวนการผลิตใหม่และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เองได้อย่างกว้างขวาง
6.       Computing and It Literacy-เข้าใจคนอื่นและรู้วิธีนำการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
7.       Career and Learning self-reliance-ออกแบบและร่วมพัฒนาทิศทางของสังคมที่เหมาะสมได้

การจัดการศึกษาด้านสุขภาพสำหรับศตวรรษที่ 21: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ (ประสิทธิ์ วัฒนาภา, 2557)
          การจัดการศึกษาด้านสุขภาพสำหรับศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นให้มี Transformative education ตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งทฤษฎีหรือหลักการของ Transformative education มีหลากหลายมุมมอง โดยเน้นให้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองของเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะมิติด้านจิตวิทยา  ด้านความเชื่อ และด้านพฤติกรรม  องค์การอนามัยโลกได้ข้อสรุปสำหรับเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาด้านสุขภาพ โดยวัตถุประสงค์และหลักสูตรควรต้องพิจารณาในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1.       การจัดการศึกษาด้านสุขภาพควรต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่ให้บริการ และระบบการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศ
2.       การกำหนดลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตด้านสุขภาพ ควรต้องได้รับความคิดเห็นจากผู้รับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพของประเทศ
3.       หลักสูตรครต้องมีการประสานของหลักสูตรทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง รวมทั้งเชื่อมโยงวิชาพื้นฐานกับวิชาทางคลินิก
4.       ควรมีการพัฒนาอาจารย์ที่สอนการศึกษาด้านสุขภาพให้เข้าใจระบบสุขภาพของประเทศ
5.       การกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ต้องมั่นใจว่าบัณฑิตมีความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อสังคมและชุมชน รวมทั้งให้บริการด้วยความยินดี สมัครใจ และด้วยสมรรถนะ (Competency) ที่เหมาะสมและเพียงพอ
6.       สาระในแต่ละหลักสูตรควรมีบางส่วนที่มีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษาของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งจะสอดคล้องกับลักษณะการทำงานจริง
7.       หลักสูตรต้องได้มาตรฐาน โดยมีระบบรับรองหรือประกันคุณภาพ
8.       บุคลากรด้านสุขภาพควรต้องได้รับการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยมีระบบรองรับ
9.       หลักสูตรควรครอบคลุมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้วิธีการจัดการเรียนการสอนควรยึดหลักการ “สอนให้น้อยลง แต่ให้เรียนรู้ให้มากขึ้น (Teach less, Learn more)” โดยรูปแบบหรือวิธีการที่หลากหลาย ได้แก่
- การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง (Authentic learning)
- การส่งเสริมให้ใช้การสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีมากขึ้น (Internal motivation)
-  Mental model building
- Social learning การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย
- Technology-assisted learning
- Learning by doing เรียนรู้โดยการปฏิบัติ

สถานการณ์การจัดการศึกษาพยาบาลในประเทศไทย (ดรุณี รุจกรกานต์, 2557)
          ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาพยาบาลที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 83 สถาบัน โดยในปีการศึกษา 2556รับนักศึกษาใหม่จำนวน 9,485 คน โดยวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกรับนักศึกษาจำนวนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36  ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2556 พบว่าจำนวนอาจารย์พยาบาลในสังกัดสกอ.และเอกชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกและอื่น ๆ มีจำนวนอาจารย์ลดลง
          มีการศึกษาสถานการณ์การจัดการศึกษาพยาบาลสำหรับศตวรรษที่ 21 ของสถาบันการศึกษาพยาบาล พบว่า สถาบันต่าง ๆ มีการบริหารองค์กรที่แตกต่างกัน แต่ทุกสถาบันปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ประกาศโดยกระทรวงศึกษาธิการ  โดยสถาบันในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกส่วนใหญ่มีความพอเพียงของงบประมาณในด้านการจัดการศึกษาในทุกด้าน  ความพร้อมในการพัฒนาทักษะนักศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 ของวิทยาลัยในสังกัดสบช. ส่วนใหญ่มีความพร้อมในระดับมากด้านการส่งเสริมให้อาจารย์ปรับการเรียนการสอนที่ทันสมัย รองลงมาคือด้านการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ด้านสนับสนุนงบประมาณด้าน ICT และการใช้ห้องเรียนกลับทาง (Flipped classroom) ตามลำดับ
          ผลการสำรวจวิธีการจัดการเรียนการสอนพบว่า มีสถาบันร้อยละ 50-80 ใช้การบรรยาย โดยไม่มีสถาบันใดที่ใช้วิธีการบรรยายอย่างเดียว มีการใช้วิธีการสอนที่ค่อนข้างหลากหลาย สำหรับผลการเรียนรู้ของนักศึกษาในภาพรวมอยู่ในระดับดีทุกด้าน และทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่อยู่ในระดับดี-ดีมากได้แก่ ทักษะในกลุ่มทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
          ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะคือ ควรมีการรวมตัวของสถาบันการศึกษาพยาบาลเพื่อร่วมกันกัน Reform การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ควรมีการติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านสุขภาพ และควรพัฒนาเครือข่ายกลุ่มสถาบันสาขาพยาบาลศาสตร์ในการจัดการความรู้สาขาพยาบาลศาสตร์
แนวคิด Flipped Classroom (วิจารณ์ พานิช, 2556)
            ห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) เป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นจากประสบการณ์การสอนในชั้นเรียนของ Jonathan Bergmann และ Aaron Sams ซึ่งพวกเขาเป็นครูวิชาเคมีของโรงเรียน Woodland Park High School รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เขียนหนังสือที่ชื่อ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day ขึ้น ผู้เขียนทั้ง ๒ ท่านนี้ ได้ค้นพบวิธีเรียนรู้แบบกลับทาง คือเรียนวิชาที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน หรือรับถ่ายทอดความรู้ที่บ้าน แล้วมาสร้างความรู้ต่อยอดจากวิชาที่รับถ่ายทอดมา ให้เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับชีวิต ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลัง เกิดทักษะที่เรียกว่า “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
          ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 1. เริ่มจากการทำงานในหน้าที่ครูสอน
          ห้องเรียนกลับทางมีกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้ว   เกิดขึ้นจากจิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อศิษย์ของครูบ้านนอกในสหรัฐอเมริกา 2 คน คือ Jonathan Bergman และ Aaron Sams  ที่ต้องการช่วยนักเรียนที่มีปัญหาตามชั้นเรียนไม่ทัน เพราะต้องขาดเรียนไปเล่นกีฬาหรือไปทำกิจกรรม หรือเพราะเขาเรียนรู้ได้ช้า ICTช่วยให้ครูทำวิดีโอสอนวิชาได้โดยง่าย และเอาไปแขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตได้ฟรี   ให้ศิษย์ที่ขาดเรียนเข้าไปเรียนได้   ศิษย์ที่เรียนช้าก็เข้าไปทบทวนได้อีก ไม่ต้องพึ่งการจดผิดๆ ถูกๆ ตกๆ หล่นๆ อีกต่อไป   ครู ไม่ต้องสอนซ้ำแก่เด็กที่ขาดเรียนไปทำกิจกรรม แต่คุณค่าของวิดีโอบทเรียนที่แขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น  มันนำไปสู่การกลับทางการเรียนรู้ของศิษย์ วิดีโอบทเรียนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ช่วยให้นักเรียนไม่จำเป็นต้องใช้เวลาที่โรงเรียนในการเรียนเนื้อวิชา  แต่ใช้เวลาให้เกิดคุณค่าต่อตนเองมากกว่านั้น คือใช้สำหรับฝึกแปลงเนื้อความรู้ไปเป็นสาระหรือความเข้าใจที่เชื่อมโยงกับโลกหรือกับชีวิตจริง   ซึ่งช่วงเวลาฝึกหัดนี้ต้องการความช่วยเหลือจากครู  การกลับทางการเรียนไม่ใช่สูตรสำเร็จของวิธีการ  แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด (mindset)  เปลี่ยนความสนใจจากที่ครูมาเป็นที่นักเรียน และที่การเรียนรู้และครูที่กลับทางการเรียนรู้จัดการเรียนรู้แตกต่างกัน
          ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 2. ห้องเรียนกลับทางเป็นอย่างไร
          เวลาของครูจะใช้สำหรับมีปฏิสัมพันธ์สองทางกับศิษย์ ทำให้เด็กที่เรียนช้าหรือหัวช้าได้รับการเอาใจใส่ ครูจะไม่ยืนอยู่หน้ากระดานดำที่หน้าชั้นอีกต่อไป แต่จะเดินไปเดินมาในชั้น เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีปัญหา
          กิจกรรมที่ครูกำหนดเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ได้แก่
1.       กิจกรรมการเรียนรู้ก่อนเข้าชั้นเรียน โดยฝึกวิธีดูวิดีโอที่บ้านอย่างได้ผลดีให้แก่เด็ก  แนะนำให้ขจัด
สิ่งรบกวนสมาธิต่าง ๆ แนะนำให้กดปุ่มหยุด เพื่อจดบันทึกประเด็นสำคัญหรือคำถาม   แนะนำให้ไปศึกษา วิธีจดบันทึกประเด็นสำคัญ  จดคำถาม หรือส่วนที่ไม่เข้าใจ 
2.       กิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน เริ่มด้วยการใช้เวลาสั้นๆ ทบทวนวิดีทัศน์ และตอบคำถามสิ่งที่ไม่
เข้าใจหลังดูวิดีทัศน์   ซึ่งจะช่วยให้ครูได้แก้ไขความเข้าใจผิดของนักเรียนบางคน   หรือถ้าเด็กทั้งชั้นเข้าใจผิดก็แสดงว่าวิดีทัศน์มีข้อบกพร่อง ครูจะได้แก้ไข หลังจากนั้นครูมอบงานให้ทำ  โดยอาจเป็น lab หรือเป็นกิจกรรมค้นคว้า โครงงานหรือกิจกรรมแก้ปัญหา หรือการทดสอบ มีการให้คะแนนจากการทดสอบ เช่นเดียวกับการสอนแบบเดิม
จะเห็นได้ว่าบทบาทของครูเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง   คือไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้   แต่บทบาทเป็นติวเตอร์หรือเป็นโค้ช หรือเป็นผู้จุดประกาย โดยการตั้งคำถามยุแหย่ให้เด็กคิด สร้างความสนุกสนานในการเรียน   และเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน  ครูจะเน้นช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักการ ไม่ใช่ท่องจำ   หัวใจคือครูเน้นทำหน้าที่ช่วยแนะนำการเรียนของเด็ก ไม่ใช่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้   ครูเปลี่ยนจากบทบาทปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนทั้งชั้น เป็นมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเป็นรายคน
          ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 3. ทำไมจึงควรกลับทางห้องเรียน
          เหตุผลที่ควรกลับทางห้องเรียนสรุปได้ดังนี้
          - เพื่อเปลี่ยนวิธีการสอนของครู   จากบรรยายหน้าชั้น หรือเป็นครูสอน ไปเป็น ครูหรือเป็นครูติวเตอร์
- เพื่อใช้เทคโนโลยีการเรียนที่เด็กสมัยใหม่ชอบ คือ ไอซีที   หรืออาจเรียกว่าเป็นการนำโลกของ
โรงเรียน เข้าสู่โลกของนักเรียน คือโลกดิจิตัล
         - ช่วยเด็กที่มีงานยุ่ง   ต้องขาดเรียนไปแข่งขันกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่นเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักจัดการเวลาของตน
         - ช่วยเด็กเรียนอ่อนที่ขวนขวาย   ในห้องเรียนกลับทาง เด็กเหล่านี้จะได้รับความเอาใจใส่ของครูมากที่สุด   คือครูเอาใจใส่เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
- ช่วยเด็กที่มีความสามารถแตกต่างกัน ให้ก้าวหน้าในการเรียนตามความสามารถของ
ตน   เพราะเด็กสามารถฟังวิดีทัศน์กี่รอบก็ได้ หยุดตรงไหนก็ได้ กรอกลับก็ได้  
         - ช่วยให้เด็กสามารถหยุด และกรอกลับครูของตนได้   ทำให้เด็กจัดเวลาเรียนตามที่ตน
พอใจ   เบื่อก็หยุดพักได้  
- ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูเพิ่มขึ้น  การกลับทางห้องเรียน ยังคงเป็นการเรียนแบบนักเรียนมาโรงเรียน และนักเรียนสัมผัสครู   ห้องเรียนกลับทางเป็นการใช้พลังทั้งของระบบ ออนไลน์ และระบบพบหน้า   ช่วยเปลี่ยนหรือเพิ่มบทบาทของครู ให้เป็นทั้ง พี่เลี้ยง (mentor), เพื่อน  เพื่อนบ้าน (neighbor)   และผู้เชี่ยวชาญ (expert)
         - ช่วยให้ครูรู้จักนักเรียนดีขึ้น   หน้าที่ของครูไม่ใช่เพียงช่วยให้ศิษย์ได้วิชา หรือเนื้อหา   แต่ต้อง
กระตุ้นแรงบันดาลใจ (inspire)  ให้กำลังใจ  รับฟัง  และช่วยส่งเสริมให้เด็กฝันถึงอนาคตของตน   นั่นคือมิติของความสัมพันธ์  ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของศิษย์  
- ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักเรียนกันเอง   มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของนักเรียน   จาก
เรียนเพื่อทำตามคำสั่งครู   หรือทำงานเพื่อให้เสร็จตามข้อกำหนด   เป็นเรียนเพื่อตนเอง เพื่อการเรียนรู้ของตน   ไม่ใช่เพื่อคนอื่น   มีผลให้เด็กเอาใจใส่การเรียน
- ช่วยให้เห็นคุณค่าของความแตกต่าง   โดยธรรมชาติ เด็กในชั้นเรียนเดียวกันมีความแตกต่างกัน
มาก   มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างกัน   การกลับทางชั้นเรียนช่วยให้ครูเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน เพื่อนนักเรียนด้วยกันก็เห็น และช่วยเหลือกันด้วยจุดแข็งของแต่ละคน   
          - เป็นการเปลี่ยนการจัดการห้องเรียน ปัญหาที่พบบ่อยในชั้นเรียนจะหายไปเนื่องจากในห้องเรียนกลับทาง นักเรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการ   ไม่ใช่เป็นผู้รับถ่ายทอดอย่างในห้องเรียนแบบเดิม   ไม่มีครูมายืนสอนปาวๆ หน้าชั้นให้น่าเบื่อหน่ายอีกต่อไป
- ช่วยให้การศึกษาแก่พ่อแม่ และคนในครอบครัว   พ่อแม่เด็กบางคนดูวิดีทัศน์ไปพร้อมกับลูก   บางบ้านดูกันทั้งบ้านก็มี ทำให้ผู้ใหญ่ก็ได้เรียนวิชานั้นไปด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ด้อยโอกาส
          - ช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการจัดการศึกษา  การกลับทางห้องเรียน เอาคำสอนในวิดีทัศน์ ไปไว้บน
อินเทอร์เน็ต เป็นการเปิดเผยเนื้อหาสาระของการเรียนแก่สาธารณะ  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของการเรียนการสอน ให้แก่ผู้ปกครอง นำไปสู่การเรียนรู้แบบ flipped-mastery approach  
สรุปว่า การกลับทางห้องเรียน เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับช่วยให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ที่ดี   ย้ำคำว่า อย่างหนึ่งเพราะการเรียนรู้ที่ดียังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลากหลายประการ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การเป็นครูที่ดี ต้องทำมากกว่าการกลับทางห้องเรียน 
ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 4. วิธีดำเนินการกลับทางห้องเรียน
ครูต้องไม่หลงเข้าใจผิดว่า ส่วนสำคัญที่สุดในการเรียนแบบกลับทางห้องเรียนอยู่ที่วิดีทัศน์ ตรงกันข้าม เวลาสำคัญที่สุดของการเรียนแบบนี้อยู่ที่เวลาเรียนในห้องเรียน ครูจะต้องประเมินคุณค่าของเวลาช่วงนี้ และออกแบบแล้วปรับปรุง เพื่อให้เป็นเวลาที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้สูงสุดของเด็ก คือเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง มากกว่าการเรียนแบบเดิม
ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 5. ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
การเรียนแบบรู้จริง ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของเด็ก เพิ่มความร่วมมือระหว่างนักเรียน เพิ่มความมั่นใจตนเองของนักเรียน และช่วยให้โอกาสนักเรียนได้แก้ตัวในการเรียนรู้ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์หากพลาดในรอบแรก
การเรียนรู้แบบรู้จริง จะช่วยให้เด็กประมาณร้อยละ ๘๐ สามารถเรียนเนื้อสำคัญได้   เทียบกับร้อยละ ๒๐ เมื่อใช้วิธีสอนแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  หลักการสำคัญของการเรียนแบบรู้จริง คือ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ชุดหนึ่งตามอัตราเร็วของการเรียนรู้ของตน   ไม่ใช่ต้องเรียนตามอัตราเร็วที่ครูหรือชั้นเรียนกำหนด   การเรียนแบบนี้ นักเรียนต้องเรียนวัตถุประสงค์ไล่ตามลำดับพื้นความรู้ก่อนหลัง   คือต้องเข้าใจพื้นความรู้ชุดที่ ๑ เสียก่อน จึงจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนที่ ๒ ได้  ลักษณะสำคัญของการเรียนแบบรู้จริงคือ
 - นักเรียนเรียนเป็นกลุ่ม หรือเดี่ยวๆ ตามอัตราเร็วที่เหมาะสม
 - ครูคอยประเมินการเรียนรู้ (formative assessment) และวัดความเข้าใจ ของศิษย์   นักเรียนพิสูจน์ว่าตนเรียนรู้วัตถุประสงค์นั้น เข้าใจอย่างแท้จริง โดยสอบผ่านข้อสอบ (summative assessment)   นักเรียนที่ยังสอบไม่ผ่านวัตถุประสงค์ข้อใด ได้รับการช่วยเหลือ 
องค์ประกอบของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ได้แก่  กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ให้ชัดเจน  ไตร่ตรองว่าวัตถุประสงค์ส่วนไหนควรเรียนแบบลงมือทำหรือ inquiry ส่วนไหนควรเรียนแบบรับ ถ่ายทอด  ให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าถึงวิดีทัศน์เพื่อเรียนสาระวิชา  สร้างกิจกรรมให้นักเรียนลงมือทำเพื่อเรียนรู้ในชั้นเรียน สร้างวิธีสอบหลายวิธีเพื่อพิสูจน์ว่านักเรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุ ประสงค์ ในแต่ละบทเรียน
ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 6. ลักษณะของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
ลักษณะของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ประกอบด้วย
1.       สอนให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนของตนเอง
2.       ทำให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย
3.       การเรียนรู้เป็นศูนย์กลางของห้องเรียน
4.       การเรียนรู้แบบกลับทางและเรียนให้รู้จริงให้บริการ feedback แก่เด็กในทันที และลดเอกสารที่ครูต้องทำ
5.       การเรียนแบบรู้จริง ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนเสริม
6.       การเรียนแบบรู้จริงเปิดช่องให้นักเรียนเรียนรู้สาระด้วยหลากหลายวิธี
7.       การเรียนแบบรู้จริงเปิดช่องให้นักเรียนแสดงภูมิรู้ได้หลากหลายแบบ
8.       การเรียนแบบรู้จริงเปลี่ยนบทบาทของครู
9.       การเรียนแบบรู้จริงช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียน ไม่ใช่รับจ้างมาโรงเรียน
10.   วิธีเรียนแบบรู้จริงจัดซ้ำง่าย ขยายขนาดชั้นเรียนง่าย และจัดให้เหมาะต่อเด็กเป็นรายคนได้ง่าย
11.   วิธีเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริงช่วยเพิ่มเวลาพบหน้าระหว่างครูกับ ศิษย์
12.   การเรียนแบบรู้จริงช่วยให้นักเรียนทุกคนอยู่กับการเรียน
13.   การเรียนแบบรู้จริงทำให้การลงมือทำเป็นการเรียนแบบที่เหมาะต่อเด็กแต่ละคน
14.   ชั้นเรียนแบบรู้จริงช่วยให้เด็กติดตามการสาธิตของครูอย่างใกล้ชิด
15.   ชั้นเรียนแบบกลับทางห้องเรียนและเรียนให้รู้จริงเปิดโอกาสให้ครูช่วยเหลือ นักเรียน
          ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 7. วิธีดำเนินการ
การดำเนินการห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ควรดำเนินการดังนี้
1.       ในวันแรกครูอธิบายประโยชน์ของการเรียนแบบใหม่   และให้เด็กดูวิดีทัศน์อธิบายวิธีเรียนแบบนี้   ในวิดีทัศน์มีนักเรียนรุ่นก่อนอธิบายว่าวิธีเรียนแบบใหม่ดีต่อนักเรียนอย่างไร  
2.       แจ้งให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบเรื่องการเรียนแบบใหม่
3.       สอนวิธีดูและจัดการวีดิทัศน์
4.       กำหนดให้นักเรียนตั้งคำถามที่น่าสนใจ
5.       วางรูปแบบห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง
6.       ให้เด็กได้จัดการเวลาและงานของตนเอง
7.       ส่งเสริมให้เด็กช่วยเหลือกันเอง
8.       สร้างระบบประเมินที่เหมาะสม
9.       มีการประเมินเพื่อปรับปรุง (Formative Assessment)
10.   ถามคำถามที่ถูกต้อง ในการทดสอบแบบ formative
11.   มีการสอบแบบได้-ตก (Summative Evaluation) เพื่อดูว่าเด็กบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้หรือไม่ 
12.   ครูต้องหาวิธีป้องกันเด็กโกงสอบ ให้ผู้เรียนมีความซื่อสัตย์ในการสอบ
13.   ใช้เครื่องช่วยการสอบเพื่อผล ได้-ตก เช่น ใช้ computer-generated exam
14.   ครูต้องไตร่ตรอง ว่าในการเรียนแบบรู้จริงนั้น การให้ผลสอบ A-F มีความหมายอย่างไร แตกต่างจาก A-F โดยทั่วๆ ไปอย่างไร 
บทสรุป  ลักษณะสำคัญที่สุดของห้องเรียนกลับทาง คือกลับทางจุดสนใจจากตัวครูและการสอนของครู ไปที่ตัวเด็กและการเรียนของเด็ก

       http://www.se-edlearning.com/wp-content/uploads/2013/11/flip.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น