วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ



การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
สุรางค์  เปรื่องเดช
          วิชามโนมติ ทฤษฎี และกระบวนการพยาบาลเป็นวิชาในหมวดวิชาเฉพาะ  และเป็นวิชาแรกในกลุ่มวิชาชีพ จึงมีรหัสวิชา พย.1201 จำนวน 2 หน่วยกิต [(2-0-4)]  วิชานี้เป็นวิชาที่ว่าด้วยแนวคิดเกี่ยวกับภาวะสุขภาพกับความเจ็บป่วย  สิทธิผู้ป่วย  การพยาบาล  การดูแลแบบองค์รวม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพขั้นพื้นฐาน  ทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล ทฤษฎีทางการพยาบาล กระบวนการพยาบาล และการนำไปใช้ โดยยึดหลักจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน  ดังนั้นจุดมุ่งหมายของรายวิชา เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ แนวคิดเกี่ยวกับภาวะสุขภาพกับความเจ็บป่วย  สิทธิผู้ป่วย  การพยาบาล   การดูแลแบบองค์รวม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพขั้นพื้นฐาน  ทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ         การพยาบาล  ทฤษฎีทางการพยาบาล กระบวนการพยาบาล และการนำไปใช้ โดยยึดหลักจริยธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน วิชานี้จึงประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 บท คือ บทที่ 1  แนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ        การพยาบาล   บทที่ 2  กระบวนการพยาบาล  และ บทที่ 3  แนวคิด  ทฤษฎีทางการพยาบาล  และการนำไปใช้   จะเห็นว่าวิชานี้เป็นวิชาที่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ต้องเรียนรู้เพื่อการเตรียมก้าวสู่วิชาชีพการพยาบาล                                                    
สาระเรื่องกระบวนการพยาบาลเป็นสาระที่สำคัญเพราะเป็นแก่นของวิชาชีพการพยาบาลอย่างหนึ่งกล่าวคือกระบวนการพยาบาลเครื่องมือสำคัญของพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาล  โดยเมื่อพยาบาลใช้กระบวนการพยาบาลทำให้เข้าถึงผู้รับบริการ  ทราบข้อมูล  วิเคราะห์  กำหนดปัญหา/    ความต้องการ  วางแผนและให้การพยาบาลครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ตรงปัญหาและความต้องการ  ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของสภาการพยาบาลมาตรฐานที่ 1  ว่าด้วย “การใช้กระบวนการพยาบาลใน      การปฏิบัติพยาบาลและการผดุงครรภ์  ต้องมีการใช้กระบวนการพยาบาลและบันทึกรายงานการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยทุกรายโดยพยาบาลวิชาชีพ”   นอกจากนั้นประกาศของสภาการพยาบาลมาตรฐานที่  5     ยังให้มีการบันทึกและการรายงานผลการปฏิบัติพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สามารถสะท้อนคุณภาพการพยาบาลและการผดุงครรภ์  รวมทั้งต้องมีระบบการตรวจสอบคุณภาพและความสมบูรณ์ของการบันทึกทาง    การพยาบาลเพื่อการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ      อย่างไรก็ตามการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้   ผู้ใช้จะต้องใช้บนพื้นฐานของกรอบแนวคิดและทฤษฎีทางการพยาบาล   เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพของอย่างมีคุณภาพ   
          สืบเนื่องจากข้าพเจ้าเป็นทั้งผู้รับผิดชอบวิชาและเป็นผู้สอนสาระเรื่องกระบวนการพยาบาล   พบว่า
จากผลการทดสอบหลังการสอน (Quiz) แบบบรรยายเรื่อง กระบวนการพยาบาล 2 ครั้ง คือ การทดสอบหลังการสอนครั้งที่ 1 หลังสอนเรื่องความหมาย ความสำคัญของกระบวนการพยาบาล และความหมาย ความสำคัญของแต่ละขั้นตอนที่ 1 และ 2   มีนักศึกษาสอบผ่าน 11 คน  ส่วนการทดสอบหลังการสอนครั้งที่ 2 ขั้นตอนที่ 3 – 5  พบว่านักศึกษาสอบผ่านแค่ 3 คน  และเมื่อรวมทั้ง 2 ครั้ง พบว่านักศึกษาจำนวน 118 คนสอบไม่ผ่านคิดเป็นร้อยละ 100  สะท้อนถึงการขาดความเข้าใจในเนื้อหาสาระเรื่องกระบวนการพยาบาล  ผู้สอนจึงนำแบบทดสอบหลังการสอน ทั้ง 2 ชุดมารวมเป็นข้อคำถาม 1 ชุด  ซึ่งเป็นคำถามที่นำไปสู่คำตอบที่แสดงถึงการเรียนรู้สาระสำคัญเรื่องกระบวนการพยาบาลทั้ง 5 ขั้นตอน  โดยใช้กิจกรรมการสอนเสริมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นรายกลุ่ม   กิจกรรมการสอนเสริมมีดังนี้ :
          1. แบ่งนักศึกษาจำนวน 118 คน ออกเป็น 4 กลุ่มๆละ 28 – 32 คนและให้นักศึกษาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบวิชาเป็นผู้กำหนดวันสอนเสริม  ได้ผลสรุป 4 วันๆละ 3 ชั่วโมง คือวันที่ 15 , 16 , 29 และ 30 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09.00น. – 12 .00 น.
          2. ในวันสอนเสริมแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่มๆละ 5 – 7 คน
          3. นักศึกษาแต่ละกลุ่มทำแบบทดสอบ  ซึ่งเป็นข้อคำถามทั้งหมดเกี่ยวกับสาระเรื่องกระบวนการพยาบาล  ให้ร่วมกันสืบค้นหาคำตอบจากตำราที่ผู้สอนให้รายชื่อไปเตรียมล่วงหน้าก่อนเข้ากลุ่ม  ให้ตอบคำถามทีละข้อไปพร้อมๆกัน  พร้อมกับอ้างอิงตำราอย่างถูกต้องโดยผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะวิธีเขียนการอ้างอิงที่ถูกต้อง
          4. เมื่อนักศึกษาทำแบบทดสอบเสร็จให้ส่งคำตอบพร้อมรายงานการอ้างอิง   จากนั้นให้สถานการณ์และให้นักศึกษาวางแผนให้การพยาบาลผู้ป่วยตามสถานการณ์เป็นรายกลุ่มและกำหนดเวลาส่ง
          5. ให้นักศึกษาทุกคนเขียน Journal  Writing ในประเด็น ความรู้  ทักษะ และ ความรู้สึกต่อกิจกรรมการเรียนการสอนเสริมครั้งนี้ส่งทุกคน
          6. ให้นักศึกษาทุกคนทำแบบทดสอบ  อีกครั้ง โดยมีการปรับข้อคำถามเป็นบางข้อและอนุญาตให้นักศึกษาทุกคนนำตำราเข้ามาในห้องได้
สรุปผลการจัดกิจกรรมการสอนเสริม
         1. ผลสรุปจาก Journal  Writing ในประเด็นต่างๆมีดังนี้
             1.1 ด้านการเรียนรู้  นักศึกษาได้เขียนประเด็นต่างๆดังนี้
              ได้ความรู้เรื่อง กระบวนการพยาบาลเพิ่มมากขึ้น   เคยเรียนในห้องมาแล้ว  ทำให้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น   เราไม่ได้ใช้วิธีการแยกกันหา  แต่เราช่วยกันหาคำตอบของข้อคำถามทำให้เราเกิดความร่วมมือกันค้นหาคำตอบ  แล้วนำมาพูดคุย  ซักถามสิ่งที่ไม่เข้าใจ  ให้เพื่อนในกลุ่มอธิบายให้ฟังทำให้เข้าใจง่ายกว่าไปนั่งอ่านหนังสือคนเดียว  และในระหว่างที่ทำแบบฝึกหัดอาจารย์คอยเดินดูและให้นักศึกษาถามข้อสงสัย
             1.2 ด้านการวิเคราะห์  นักศึกษาได้เขียนประเด็นต่างๆดังนี้ สมาชิกทุกคนต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น  จึงเกิดความเข้าใจในเรื่องที่อาจารย์ให้ศึกษา” “การเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมที่ถูกต้อง” “ รู้จักหนังสือในห้องสมุดมากขึ้น   เรียนรู้การทำงานเป็นทีม
การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ตาม SAPe”    “”                    
             1.๓ ด้านทักษะ นักศึกษาได้เขียนประเด็นต่างๆดังนี้
 ได้ฝึกทักษะการค้นคว้าด้วยตนเอง ฝึกทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  การจับประเด็นจากเอกสารคำสอนเชื่อมโยงไปหารายละเอียดในตำราได้มากขึ้น  ฝึกทักษะการอ่านและสรุปความ  การเขียนอ้างอิงได้เข้าใจขึ้น” “การคิด/วิเคราะห์ การทำงานกลุ่ม ฝึกนิสัยการอ่านเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดจากการอ่านหนังสือหลายๆเล่ม  การศึกษาแบบเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย...ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน  ทักษะการอ่านอย่างไรให้เข้าใจ    การวิเคราะห์คำถาม  การฟังอย่างตั้งใจ  เกิดการเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น  เกิดทักษะการสื่อสารจากการพูด อธิบายและการอภิปรายร่วมกันภายในกลุ่ม  การคิดวิเคราะห์/การไตร่ตรอง การตัดสินใจและต้องเลือกข้อมูลที่เหมาะสมมาใช้   เปรียบเทียบการทำงานเป็นกลุ่ม  เดิม : แบ่งหน้าที่กันทำส่วนของใครของมัน
แต่วันนี้   ได้ร่วมมือกันทำ ช่วยกันทำไปพร้อมๆกัน  ไม่ต้องหนักคนใดคนหนึ่งอย่างที่เคยเป็นมา     
และที่สำคัญคือการตอบปัญหาที่ละข้อทำให้นักศึกษาแต่ละคนในกลุ่มได้มีโอกาสทบทวนคำตอบในแต่ละข้อ  เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแล้วค่อยเริ่มตอบข้อต่อไปพร้อมกัน  การเรียนรู้แบบนี้ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้นและสามารถนำไปใช้ในการเรียนวิชาอื่นได้  และความรู้ที่ได้จากทักษะต่างๆที่ใช้ สามารถนำไปใช้ในในชีวิตประจำวันได้
              1.4  ด้านความรู้สึก  นักศึกษาได้เขียนประเด็นต่างๆดังนี้
                    ตอนแรกๆรู้สึกกดดันที่ต้องมาเรียนเสริม
                    รู้สึกว่าเป็นผลดีต่อตัวเองเป็นอย่างมาก
                     การเรียนแบบกลุ่มทำให้มีความช่วยเหลือกัน  อธิบายให้กันฟัง  เรียนรู้ร่วมกัน  เพิ่มเติมความรู้ในสิ่งที่ขาดหายไปจากการเรียนในห้อง
                    ทำให้รู้สึกเห็นคุณค่าของเอกสารประกอบการเรียน (ที่อาจารย์แจกแก่นักศึกษา) เพิ่มขึ้น
                    เพื่อนๆทุกคนช่วยกันทำงานที่อาจารย์มอบหมายสำเร็จ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ
                    ภูมิใจและประทับใจมาก  ดีใจที่ได้เรียน  สนุกสนานและประทับใจมาก
                    เรียนเป็นกลุ่มย่อยนักศึกษารู้สึกสนุกกับการหาคำตอบ
                    รู้สึกกระตือรือร้น
                    เกิดการจดจำข้อมูลความรู้นั้นมากขึ้น  จดจำเนื้อหาได้
                    ตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการพยาบาลและการนำไปใช้อย่างมาก
                    ได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง  ได้รู้ได้สัมผัสเนื้อหามากขึ้น
                     รู้สึกชอบ  เข้าใจ  สนุก  และเป็นประโยชน์
                     เรียนแล้วสนุก  มีความสุขที่ได้เรียน
                     เรียนสนุก สบาย เป็นกันเอง ไม่เครียด ทำให้รู้สึกดีกับการเรียนแบบกลุ่มย่อย
                     อาจารย์จะคอยบอกเสมอว่า ให้การทำงานไปพร้อมๆกัน ทำทุกคน ทำเป็นกลุ่ม  อย่ารีบทำไปก่อน เดี๋ยวเพื่อนตามไม่ทัน ซึ่งการเรียนครั้งนี้ทำให้ทุกคนมีความเข้าใจในกระบวนการพยาบาลมากขึ้น  สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการเรียนวิชาต่อๆไปได้ดีกว่าเดิม
                    เป็นการเรียนการสอนที่เข้าถึงนักศึกษาทำให้เข้าใจมากขึ้น  และตื่นตัวตลอดเวลา  รู้สึกชอบการเรียนในลักษณะนี้
                    เกิดความสามัคคีกันในกลุ่มในการช่วยกันทำงานให้สำเร็จไปได้ด้วยดี
                    ตระหนักถึงความสำคัญของของการอ่านหนังสือ.....เราต้องอ่านให้เข้าใจก่อน  สรุปให้ได้  แล้วเราก็จะตอบคำถามได้อย่างตรงจุด
                    กล้าถามอาจารย์มากขึ้นในส่วนที่ไม่เข้าใจ
                     กล้าแสดงความคิดเห็น
                    ถูกกระตุ้นให้คิด 
                    การสืบค้นจากหนังสือหลายๆเล่มมาประกอบกันทำให้เข้าใจเนื้อหามากกว่าการจำมาตอบ
                    ชอบที่มีการเรียนการสอนเป็นกลุ่มระดมความคิดร่วมกัน
                    ได้แนวทางในการศึกษาค้นคว้า/เพิ่มเติม
                   เป็นการเรียนการสอนที่ดีมากเพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด ค้นหาคำตอบ   สามารถเข้าถึงอาจารย์ได้มากขึ้น  สามารถสอบถามข้อสงสัยจากอาจารย์ได้
                   การเรียนแบบนี้เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ทำให้ไม่หลับ ไม่น่าเบื่อ และมีความกระตือรือร้นตลอดเวลา  และจดจำได้ดี
                   นักศึกษามีกำลังใจมากขึ้นในการค้นตำราทางการพยาบาล มีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าต่อไปจะสามารถทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                   นักศึกษาทุกคนจะนำความรู้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพการพยาบาลต่อไปในอนาคต
           2. ผลจากการตรวจแบบทดสอบรายกลุ่ม   พบว่านักศึกษาทุกกลุ่มสามารตอบแบบทดสอบได้ถูกต้อง  สะท้อนถึงแต่ละคนในแต่ละกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการพยาบาล จึงสามารสรุปว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในสาระสำคัญของกระบวนการพยาบาล
สรุปและข้อเสนอแนะ    
          จากผลการตรวจแบบทดสอบรายกลุ่มและผลสรุปจาก Journal  Writing  ในด้านความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญของกระบวนการพยาบาลสะท้อนว่านักศึกษามีความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญเรื่องกระบวนการพยาบาลจากการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นรายกลุ่ม  นอกจากนั้นนักศึกษายังได้ 1) เรียนรู้การทำงานเป็นทีม  การเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมที่ถูกต้องอันจะเป็นฐานในการอ้างอิงในวิชาอื่นๆต่อไปในอนาคต   2) เกิดทักษะการค้นคว้าด้วยตนเอง  การอ่านและสรุปความ  การฟังอย่างตั้งใจ  ทักษะการสื่อสารจากการพูด อธิบายและการอภิปรายร่วมกัน  การคิดวิเคราะห์/การไตร่ตรอง การตัดสินใจและต้องเลือกข้อมูลที่เหมาะสมมาใช้   การเรียนรู้แบบนี้ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้นและสามารถนำไปใช้ในการเรียนวิชาอื่นได้  และความรู้ที่ได้จากทักษะต่างๆที่ใช้ สามารถนำไปใช้ในในชีวิตประจำวันได้  ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน  3) ด้านความรู้สึก ผู้เรียนรู้สึกสนุก  มีความสุขกับการเรียน  กระตือรือร้น  กล้าถามในส่วนที่ยังไม่เข้าใจและ กล้าแสดงความคิดเห็น จดจำข้อมูลความรู้ได้มากขึ้น  ที่สำคัญคือนักศึกษาเขียนว่า  นักศึกษาทุกคนจะนำความรู้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพการพยาบาลต่อไปในอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่านักศึกษารุ่นนี้น่าจะนำความรู้เรื่องและทักษะต่างๆที่เกิดจากการเรียนรู้ครั้งนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และในที่สุดนี้จากการสรุปนี้สามารยืนยันได้ว่า   การออกแบบการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการพัฒนานิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนซึ่งเป็นลักษณะนิสัยอย่างหนึ่ง ที่สร้างศักยภาพในการนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้นคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นคุณลักษณะที่สำคัญต่อผู้เรียน ที่ควรส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดแก่ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่องและมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อทำให้ชีวิตของผู้เรียนมีความหมาย มีชีวิตชีวา ตลอดจนสำเร็จการศึกษา รับผิดชอบงาน รับผิดชอบชีวิตของตนเอง  สามารถปรับตัวเองให้ทันสมัย ทันยุค ทันเหตุการณ์  ทันโลกและทันต่อความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมการเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข

                                        ....................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น