วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักการทรงงาน: ทรรศนะด้านมนุษย์ศาสตร์


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักการทรงงาน: ทรรศนะด้านมนุษย์ศาสตร์

                                                                                                   สุดา เดชพิทักษ์ศิริกุล

บทนำ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแสดงสถานภาพที่สำคัญ 2 ประการด้วยกันคือ การเป็นแนวทางในการพัฒนา” และ การเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิต” หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดที่เสนอ ทฤษฎีทางเลือกของการพัฒนา” (Alternative Theory of Development) โดยมีข้อมูลสนับสนุนความคิดจากการศึกษาหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริในการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย โครงการชั่งหัวมันฯ ประมวลได้ว่าพระราชดำรัสประกอบไปด้วยถ้อยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรัชญาการดำเนินชีวิตได้แก่ การมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับองค์รวม   ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ  ภูมิสังคม  แก้ปัญหาที่จุดเล็ก   ระเบิดจากข้างใน ความเพียร  เสียสละเพื่อส่วนรวม อ่อนน้อมถ่อมตนและความสามัคคี รวมถึงพัฒนาสู่ความยั่งยืน เป็นต้น และจุดเริ่มต้นของแนวคิดการพึ่งพาตนเอง เป็นผลมาจากลักษณะสภาพของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้าง สังคม และเศรษฐกิจตามการพัฒนาสังคมกระแสหลักอันเป็นสังคมทวิลักษณ์ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดทวิภาค (dualism) โครงสร้างทางสังคมของสังคมไทย มีลักษณะผสมระหว่างสังคมเกษตรแบบเลี้ยงตนเอง (tradition) และสังคมอุตสาหกรรม (modern) ลักษณะสังคมเกษตรแบบเลี้ยงตนเอง คือผลิตด้วยแรงงาน ใช้ทุนน้อยและจ่ายค่าจ้างด้วยสิ่งของ ส่วนลักษณะสังคมอุตสาหกรรมซึ่งมีการเจริญเติบโตรวดเร็วใช้ทุนสูง และจ้างแรงงานด้วยแรงงานค่าจ้าง ในสมัยหนึ่งมีการให้ความสำคัญกับประเทศที่พัฒนาแล้วโดยสร้างอัตลักษณ์ผ่านคำว่า “เสือ” เพื่อสื่อถึง พลังอำนาจ สิทธิเสรีภาพ แนวทางการพัฒนาประเทศไทยจึงมีเป้าหมายที่จะเติบโตและทำตามแบบอย่างประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เสือ” แต่ขาดหลักวิชาที่เป็นของตนเอง ละเลยความรู้ท้องถิ่น ไม่เริ่มจากจุดเล็กๆ ไม่คำนึงถึงการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง คือการมีกินมีใช้และผลิตพอที่จะใช้พอเพียงกับตัวเองก่อนแล้วค่อยก่อร่างสร้างตัว ขาดความรอบคอบและความสมดุล และกระทบที่ปรากฏในสังคมไทยปัจจุบันคือเกิดความแตกต่างทางรายได้และทรัพย์สิน เกิดภาวะความยากจน คุณภาพชีวิตลดลงรวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ถูกทำลาย    ดังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ปลุกจิตสำนึกคนไทย  ที่ว่า

 

 

...พระเจ้าอยู่หัวยังต้องเหนื่อยต้องลำบากทุกวันนี้  เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่ เมื่อประชาชนยากจนแล้ว  อิสรภาพ  เสรีภาพ  เขาจึงไม่มี  และเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพเขาก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้...

...การเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน...

 

ถ้าเราทำแบบที่ไหนทำได้  แบบเศรษฐกิจพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ไม่ต้องเดือดร้อนอย่างทุกวันนี้...

 

...การแก้ไขวิกฤติการณ์......มันต้องถอยหลังเข้าคลอง  จะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง  แล้วต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ซับซ้อนนัก.....มีความจำเป็นที่จะถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป...

         

องค์ความรู้และแนวคิดของหลักการทรงงาน

จากการศึกษาโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ได้แก่  โครงการศูนย์ศึกษาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ห้วยทราย  โครงการชั่งหัวมันซึ่งเป็นแหล่งศึกษาและพัฒนาพืชเศรษฐกิจพันธุ์ท้องถิ่น   โครงการส่งเสริมความรู้ด้านวิธีการหรือเทคนิคการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลในพื้นที่เกษตรกรรมขนาดเล็กที่เรียกว่า“เกษตรทฤษฎีใหม่” หรือเกษตรทางเลือกรวมทั้งโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริอื่นๆอีก3,000 โครงการแสดงให้เห็นว่าเป้าหมาย ที่สำคัญของการทรงงาน คือการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขแก่ประชาชน  ซึ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลาง   โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นเกษตรกรและยากจน ดังกรอบแห่งแนวคิดที่ว่าช่วยเขาให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้”   (Help him to help himself) หรือหลักการพึ่งตนเองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับหลักการทรงงานที่ว่า “ระเบิดจากข้างใน” หมายถึงการรู้จักตนเอง พัฒนาที่ตนเอง  ด้วยตนเองเป็นจุดเริ่มต้น   การที่จะพึ่งตนเองได้จำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไปด้วยพลังจากในตน สู่ชุมชน โดยค่อยๆ สั่งสมความรู้ ทุนและความสามารถด้านต่างๆ  ไม่ก้าวกระโดดจนเกินภูมิปัญญาของตน หรือใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง หรือพึ่งพิงเทคโนโลยีเกินความจำเป็น แต่สามารถผลิตอาหาร  มีที่อยู่อาศัย เพียงพอแก่การดำรงชีพในสภาพที่ยืนอยู่บนขาของตนเองได้ การดำเนินการดังกล่าวต้องเข้าใจภูมิสังคม คือ นิสัยใจคอ  วิถีชีวิตชุมชนและสภาพธรรมชาติเป็นอย่างดีดังพระราชกระแสว่า..

 

 

...การเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นสำคัญที่สุดการช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด  เพราะฉะนั้น การช่วยเหลือแต่ละครั้งแต่ละกรณีจำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราช่วยให้เข้าใจด้วยว่า เขาอยู่ในฐานะอย่างไร  สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร  เพียงใด  คือการช่วยเหลือนั้น ควรยึดหลักสำคัญว่า  เราช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป...

 

 

แนวคิดที่ว่า “ช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้”จึงนำไปสู่หลักการที่เรียกว่า“ระเบิดจากข้างใน” ดังกล่าว เป็นการให้ความหมายกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ในประเด็นของอิสรภาพและเสรีภาพโดยแท้   จึงอาจกล่าวได้ว่าหลักการทรงงานของพระองค์ท่านมีพื้นฐานแนวคิดมนุษย์นิยม  โดยเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพ  มีความสามารถ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม  สมควรที่จะส่งเสริมให้เกิดความงอกงามอย่างเต็มที่เพื่อใช้ศักยภาพแห่งตนมาพัฒนาการดำเนินชีวิตต่อไป   คำว่าอิสรภาพแห่งจิตใจเกิดจากการที่บุคคลสามารถพึ่งตนเองได้   บนความเรียบง่าย  พอดี มีเหตุผลมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติเกื้อกูลกันโดยไม่ก้าวก่ายหรือเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จิตใจจึงหลุดพ้นจากความกลัวความทุกข์ยากและความไม่มั่นคงของชีวิต

ปรัชญามนุษย์ศาสตร์ มีรากฐานจากคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ซึ่งกล่าวถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์  สรรพสัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสอดคล้องกับมนุษย์นิยม  ดังนั้นหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพุทธธรรมเป็นรากแก้วที่หยั่งรากลึกในทุกบริบทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นปัจจัยเงื่อนไขแห่งความสำเร็จของการพัฒนาความสมานฉันท์และเอื้ออาทรในสังคมไทย  จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยพึงให้ความตระหนักที่จะร่วมมือกันสืบสานงานตามพระราชดำริให้เกิดความบริบูรณ์ อันจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของตนและความยั่งยืนสถาพรของชาติไทย

แนวคิดการทรงงานให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ เน้นความอยู่ดีมีสุขมากกว่าความร่ำรวย  โดยมีเรื่องความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ   คำนึงถึงความมั่นคงของมนุษย์และการส่งเสริมให้บุคคลสามารถที่จะพัฒนาได้เต็มที่ตามศักยภาพของตน  อีกทั้งมีความโดดเด่นเรื่องการพัฒนาด้านพื้นฐานจิตใจและคุณธรรมของมนุษย์บนพื้นฐานคำสอนในพระพุทธศาสนา

 

วิเคราะห์หลักการทรงงาน: ทรรศนะด้านมนุษย์ศาสตร์

มนุษยศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ มิติของมนุษย์ที่ให้ความสนใจกับลักษณะความเป็นปัจเจกของมนุษย์เป็นสำคัญ  มีคุณค่าสำคัญอยู่ที่การกระตุ้นให้สังคมได้ย้อนพินิจถึงคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์และเรียนรู้ที่จะประเมินประสบการณ์ด้านสังคม อารมณ์ จริยธรรม-คุณธรรม ศิลปะ และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม   มนุษย์ศาสตร์จึงมีบทบาทต่อการพัฒนาความคิด  จิตวิญญาณของมนุษย์และปลูกฝังความเป็นมนุษย์ที่ดี ดังที่ พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต), 2542 กล่าวว่า

...ตอนนี้ในการพัฒนาของวงวิชาการได้มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ความเชื่อถือความหวัง ในคุณค่าของวิทยาศาสตร์ได้เสื่อมหรืออ่อนกำลังลง ฉะนั้นมนุษย์ศาสตร์นี้แหละก็ควรจะมีความสำคัญมากขึ้น ...คนได้เห็นพิษภัยของการพัฒนาที่มุ่งเน้นทางด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วในเมื่อเห็นว่า การพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจเป็นโทษการพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญก็พลอยลดความสำคัญลงไปด้วย คนก็หันมาเน้นการพัฒนาที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม  แล้วก็มาเน้นการพัฒนาคน บทบาทของมนุษย์ศาสตร์ก็เด่นขึ้น...

               แก่นสารของมนุษยศาสตร์อยู่ที่การเรียนรู้ประสบการณ์ด้านอารมณ์ทั้งความสมหวังและผิดหวัง ความรู้สึกนึกคิด และสุนทรียรส การเข้าถึงประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมเหล่านี้เป็นไปได้โดยผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม และปรัชญา โดยเฉพาะวิชาปรัชญาให้ความสำคัญต่อเรื่องของอารมณ์เช่นกัน จากการศึกษาของดร ชาญณรงค์ บุญหนุน พบว่า มิติทางอารมณ์มีนัยสำคัญต่อการศึกษา ส่งเสริมและปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าด้านการใช้เหตุผล
               หากวิเคราะห์หลักการทรงงานในด้านมนุษย์ศาสตร์โดยใช้ปรัชญาคุณค่า (Axiology Value) เป็นพื้นฐานจะเห็นว่า หลักการทรงงาน และทฤษฎีการพัฒนาที่ปรากฏเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกโครงการสะท้อนคุณค่าเกี่ยวกับ ความดี ความจริง ความงาม และความบริสุทธิ์ทางจิตใจ รวมถึงการมีความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่ปรากฏในหลักจริยศาสตร์ ตรรกศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ ล้วนมีความสัมพันธ์กับหลักพุทธธรรม ดังนี้

               1.จริยศาสตร์หรือ คุณค่าทางจริยธรรม (Ethical Value) ซึ่งเป็นวิทยาการที่เกี่ยวกับคุณค่าทางด้านความประพฤติหรือพฤติกรรมของมนุษย์ ในการกระทำความดี ตามจารีตประเพณี ตามหน้าที่ ตามจิตสำนึกหรือมโนธรรมและสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม สาระสำคัญตามนัยนี้ เป็นคุณค่าที่ปรากฏในหลักการและแนวปฏิบัติการทรงงานอันได้แก่ “ความพอดี พออยู่-พอกินและพอใช้” เป็นการดำเนินชีวิตยึดหลักทางสายกลางหรือมรรคมีองค์ 8 เป็นความเชื่อ ความเห็น ทัศนคติ ความเข้าใจที่ถูกต้องดีงาม มีเหตุผล เป็นปัจจัยต่อการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบและดำเนินชีวิตที่ดีงาม นอกจากนี้หลักสายกลางคือการร่วมมือกัน ประสานประโยชน์อย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสังคมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 “การพึ่งตนเอง” หลักการนี้อธิบายได้ว่านอกเหนือจากการพึ่งตนเองได้ทางวัตถุ สิ่งที่มีความหมายยิ่งกว่า คือการควบคุมตนเองให้เป็นอิสระจากการถูกครอบงำของกิเลส สามารถข่มตน ข่มใจ ให้เกิดปัญญาในการมีชีวิต  อย่างมีคุณค่า รู้เท่าทันความทุกข์และมีความสุขตามวิถีแห่งตน หรือเป็นการพึ่งตนเองได้ทางจิตใจนั่นเอง “หลักพึ่งตนเอง” ด้วยการทำความดีดังกล่าว สอดคล้องกับหลักการกระทำเพื่อสร้างเหตุและผลตามหลักธรรมในพุทธศาสนา ดังพระราชกระแสว่า

              

           ...ขอย้ำว่าเป็นทั้งเศรษฐกิจ หรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือผลนั้นมาจากเหตุถ้าทำเหตุที่ดี การกระทำนั้นก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้นก็จะเป็นการกระทำที่ดี “ดี” แปลว่ามีประสิทฺธิผล “ดี”แปลว่ามีประโยชน์  “ดี” แปลว่าทำให้มีความสุข...

 

“ระเบิดจากข้างใน” ในความหมายที่เป็นแก่นของพุทธปรัชญา คือการพัฒนาจิตของมนุษย์ หมายถึงการรู้จักตนเอง  พัฒนาที่ตนเอง  ด้วยตนเองก่อน และเมื่อเชื่อมโยงกับหลักการทรงงานอาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาสำนึกระดับบุคคล สู่กลุ่มชน คือหลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพา มาพึ่งตนเอง เป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจได้เองว่า จะกิน จะอยู่ จะทำอะไร อย่างไร เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ภูมิใจในรากเหง้า วัฒนธรรม  ค้นพบ “ทุน” และศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง รู้ความต้องการ วางแผนการการดำเนินชีวิตของตนเอง  และร่วมกันสร้างความมั่นคงให้ฐานรากของชีวิตให้เข้มแข็งมากกว่าการรอรับการพัฒนาจากภายนอก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับ “ภูมิสังคม”ของตน

 

 “ขาดทุนคือกำไร” (Our Loss is our gain)  “ กำไรของเราคือความคุ้มค่า  คือความอยู่ดีมีสุขของประชาชนทั่วหน้า” หลักการทรงงานมองถึงความต้องการความช่วยเหลือเป็นหลัก เป็นการ “ให้เพื่อให้” โดยคำนึงถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางจริยธรรมเรื่อง “การให้” และ “ความมีเมตตาธรรม”  เป็นการให้ความหมายทางจิตใจมากกว่าวัตถุวิสัยซึ่งเป็นลักษณะเด่นของมนุษย์ศาสตร์

 

 “ทำให้ง่าย” ทำสิ่งเล็กๆ ทำอย่างเรียบง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากแต่ประสานสอดคล้องกับภาวะปกติตามธรรมชาติ ไม่กระทบกระเทือนและทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลภาวะ ทางอากาศ  สายน้ำ เช่น  การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้เทคโนโลยีชาวบ้านเป็นต้น หลักการทรงงานนี้ อาจกล่าวได้ว่าอาศัยหลักสุนทรียศาสตร์ซึ่งเป็นคุณค่าทางด้านความงาม  ความสมบูรณ์แบบและความเหมาะสมในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์

 

“หลักแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติ” เป็นคุณค่าตามหลักตรรกศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำความรู้ ความจริงในความเป็นไปของธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาแก้ปัญหา   ด้วยการใช้สติและปัญญาผสานกับความรู้เข้าดำเนินการ  ดังพระราชกระแสว่า .. “การปลูกต้นไม้โดยไม่ต้องปลูก” “น้ำดีไล่น้ำเสีย” “ทิ้งป่าไว้ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลยป่าจะเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์” แนวคิดนี้ตรงกับหลักพุทธธรรมเกี่ยวกับการใช้ “ปัญญา”แก้ปัญหา

                  

                   2.คุณค่านอกตัว (Extrinsic Value) และคุณค่าในตัว (Intrinsic Value)

                    ประเภทคุณค่าแบ่งออกเป็น คุณค่านอกตัว (Extrinsic Value) หมายถึงสิ่งหรือกระทำนั้น ๆ เป็นเพียงวิถีทางหรืออุปกรณ์ที่จะนำไปสู่จุดหมายสุดท้าย ไม่มีคุณค่าในตัวเอง แต่คุณค่าของมันอยู่ที่ผู้กระทำปรารถนา เช่น ผลผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีค่า เป็นคุณค่านอกตัว เพราะต้องนำไปแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าเพื่อให้สำเร็จสมความมุ่งหมาย ในทรรศนะนี้ หลักการทรงงานมุ่งพัฒนาคุณค่าภายในตัวเพื่อการธำรง รักษาของคุณค่านอกตัว เป็นการนำคุณธรรมในจิตใจ คือไม่คดโกง เอารัดเอาเปรียบ รู้จักเสียสละและการให้เพื่อประสานประโยชน์ระหว่างตนกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

                   คุณค่าในตัว (Intrinsic Value) เป็นคุณค่าที่ตรงกับจุดหมายสุดท้ายคือการกระทำนั้นอยู่ในตัวเอง ไม่เป็นวิถีหรืออุปกรณ์นำไปสู่สิ่งอื่นอีก จัดเป็นคุณค่าที่แท้จริงจากหลักการทรงงาน เรื่อง “ระเบิดจากข้างใน”

สะท้อนถึงคุณค่าในตัวได้แก่ ความมีปัญญาในการดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ความไม่โลภ ไม่เบียดเบียน ความอดทน  ความเพียรและความซื่อสัตย์สุจริต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งพัฒนาคุณค่าภายในตัวด้วยพระวินิจฉัยว่าจะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

                   3.คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

                   เมื่อพิจารณาหลักการทรงงานในเรื่องคุณค่าภายในและคุณค่าภายนอก จะเห็นว่า ระบบความคิด ”ความพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพื้นฐานมาจากหลักพุทธธรรมทางสายกลาง ฝ่ายปัญญาคือ สัมมาทิฐิ (Right View) และสัมมาสังกัปปะ (Right Thought) คือ ความรู้ความเข้าใจที่มีต่อโลกและชีวิตอย่างถูกต้องตามหลักแห่งความดี ความจริง และความสามารถในการใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาความจริง เพื่อนำไปสู่การกระทำที่ดีที่ถูก ดังนั้นหลักการทรงงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน โดยการพัฒนาปัญญาคือคุณค่าแท้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับแนวคิดนักปรัชญาตะวันตกที่สำคัญ คือ

                   โสเครติส “ความดีต้องมีมาตรการที่แน่นอน ความดีมาจากความจริงซึ่งมีอยู่แล้วบุคคลจะเข้าถึง ความจริงได้ด้วยการใช้ปัญญาหยั่งความรู้ภายในเท่านั้น ......ความรู้คือคุณธรรม  (Knowledge in virtue) ความรู้ในที่นี้เป็นความรู้ขั้นบรรลุสัจธรรมสูงสุด ไม่ใช่ความรู้ธรรมดา”

                   เพลโต   “คุณธรรมเป็นความดีสูงสุด  คุณธรรมที่สำคัญ 4 ประการ คือ ปัญญา ความกล้าหาญ  ความยุติธรรม  และการรู้จักประมาณตน”

                   อริสโตเติล “ความดีสูงสุดคือ  ความสุขที่จะได้รับจากการปฏิบัติคุณธรรม  ซึ่งหมายถึง  การประพฤติอย่างพอดี”

หลักการทรงงานทั้งแนวทางพัฒนาและแนวคิดในการดำเนินชีวิตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในทรรศนะมนุษย์ศาสตร์  เกี่ยวกับปรัชญาคุณค่าเห็นว่า มีความโดดเด่นในคุณค่าเชิงจริยธรรมซึ่งเน้นการพัฒนาคุณค่าภายในมนุษย์ด้วยหลักพุทธธรรม”ทางสายกลาง”สอดประสานกับแนวคิดปรัชญา วัฒนธรรมและสังคมสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยอย่างสมดุล  ดังพระราชกระแสว่า...

 

 

...การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...

...หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ  ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็ว แต่ประการเดียว  โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวไปในที่สุด...

บทสรุป แนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น กล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาที่เสริมเติมเต็มรอยต่อของการพัฒนาตามกระแสหลักให้เหมาะสมบริบทและวัฒนธรรมของความเป็นชาติไทย  มุ่งการพัฒนาโดยให้มนุษย์เป็นหลักในการขับเคลื่อนภารกิจด้วยศักยภาพของตนเอง   ยอมรับการสะสมทุนเพื่อพัฒนาความเจริญเติบโตโดยเน้นพัฒนาที่ทรัพยากรอันเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิต ได้แก่ ดิน น้ำ ที่ทำกินและความรู้ด้านเกษตรกรรม  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคคลและสังคมด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจไม่เอารัดเอาเปรียบใช้หลักและวิธีคิดมีลักษณะเรียบง่ายไม่ซับซ้อน (Simplify) ทำได้จริง พอเพียง พอประมาณ ด้วยการดำเนินชีวิตในทางสายกลางทั้งมิติทางสังคม วัฒนธรรมและทางภูมิศาสตร์อันสอดคล้องแนบแน่นกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, สำนักงานกองประเมินผลและ

       ข้อมูล.เศรษฐกิจพอเพียง.มิถุนายน, 2547.

              . เศรษฐกิจพอเพียงทางเลือกในการพัฒนา.กรุงเทพฯ, 2547.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต).การศึกษากับการพัฒนามนุษย์.พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพมหานคร:สหธรรมมิก,2542.

มนูญ  มุกประดิษฐ์.การศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับ

        หลักธรรมในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2549.

อัควิทย์ เรืองรอง. แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศจากพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระ

       ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและแนวทางการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา.

       กรุงเทพฯ:สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ, 2555.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น