วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การจัดการความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี



วิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนี สระบุรี
รายงานการสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัย
เรื่อง การจัดการความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา
ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี”

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา (Background)
          การผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพเพื่อรองรับระบบสุขภาพของประเทศถือเป็นภารกิจแรกที่มีความสำคัญยิ่งของสถาบันระดับอุดมศึกษาทางด้านการพยาบาลและสาธารณสุขในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข (สถาบันพระบรมราชชนก, 2554) กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของวิทยาลัยได้ประกาศนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2541  โดยกำหนดให้วิทยาลัยในสังกัดมีระบบ และกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาในวิทยาลัย เพื่อเป็นหลักประกันในการผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพ (สถาบันพระบรมราชชนก, 2554) ร่วมกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 6 กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องเป็นการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก ให้เป็นกลไกในการผดุงรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสถาบันอุดมศึกษา (คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา, 2554)        
            วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี เป็นหน่วยงานในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มพัฒนาการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยเริ่มจากการนำระบบการประกันคุณภาพตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามาจัดทำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ในปี พ.ศ.2541 โดยดำเนินการในรูปแบบวิทยาลัยเครือข่ายภาคกลาง ต่อมาในปี พ.ศ.2543 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพของหน่วยงานตามระบบ ISO 9002 ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและผ่านการรับรองจากสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO และในปี พ.ศ.2544  มีการนำระบบตัวบ่งชี้ (Key Performance Indicator) ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ ISO 9002 ในปี พ.ศ.2545 ได้รับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในปี พ.ศ. 2546   การนำตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินของ สมศ. และสถาบันพระบรมราชชนก มาจัดทำองค์ประกอบ ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินของวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวทางและเป้าหมายในการดำเนินงานให้มีคุณภาพ (จันทิมา จารณศรี, 2549)
            ต่อมาในปีพ.ศ.2552 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศเรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและประกาศแนวปฏิบัติตามกรอบคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาและเพื่อประกันคุณภาพของบัณฑิตในแต่ละระดับวุฒิและสาขาวิชา นอกจากนี้เช่นเดียวกันกับสถาบันการศึกษาพยาบาลทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ต้องดำเนินงานเช่นเดียวกันกับสถาบันการศึกษาพยาบาลทุกแห่งอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้รับการรับรองคุณภาพของหลักสูตรและสถาบันการศึกษาจากสภาการพยาบาลแห่งประเทศไทย โดยที่การรับรองสถาบันการศึกษาเป็นการให้ความเห็นชอบในการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิในการสมัครสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
            การวิจัยเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ที่มีความน่าเชื่อถือและความรู้ที่ค้นพบจากการวิจัยสามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จากการทบทวนผลงานวิจัยในช่วง 8 ปี (2549-2556) ที่ผ่านมาของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี พบว่า มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge management) ของวิทยาลัยที่ผ่านมายังไม่มีการจัดการความรู้ในการประกันคุณภาพการศึกษาให้เป็นระบบโดยผ่านรูปแบบของการสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัย ดังนั้นรายงานการสังเคราะห์วิจัยฉบับนี้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมความรู้จากงานวิจัยในประเด็นการประกันคุณภาพการศึกษามาพัฒนาให้เป็นระบบเพื่อให้นักวิจัยและเกี่ยวข้อสามารถนำผลการวิจัยมาพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการศึกษา และ เพื่อนำผลการสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยครั้งนี้ไปเผยแพร่ต่อสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพพยาบาล
วัตถุประสงค์ (Objective)
            วัตถประสงค์การสังเคราะห์ความรู้จากการวิจัยครั้งนี้ เพื่อ 1) ประเมินคุณภาพผลงานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จในประเด็นการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา 2) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาจัดทำข้อเสนอแนะ การดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา และเผยแพร่ไปยังสถาบันการศึกษาอื่น ๆให้ได้ใช้ประโยชน์โดยตรง 3) เพื่อศึกษาจุดอ่อน จุดแข็งของงานวิจัยที่สามารถนำไปพัฒนาการทำวิจัยในการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
วิธีดำเนินงาน (Methods)
            การสังเคราะห์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยในประเด็นด้านการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา และ            การสกัดองค์ความรู้หรือข้อค้นพบจากงานวิจัยเพื่อนำมาจัดทำข้อเสนอแนะ (Recommendations) คณะอนุกรรมการสังเคราะห์งานวิจัยดำเนินการตามระเบียบวิธีการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบดังต่อไปนี้
            1. การสืบค้นข้อมูล (Search strategy) เป็นขั้นตอนการรวบรวมผลงานวิจัยที่ดำเนินการโดยบุคลากรของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2549-2556 ดังต่อไปนี้
            1.1 สืบค้นผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่จากฐานข้อมูลงานวิจัยในระหว่าง ปี พ.ศ. 2549-2556 และคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีคำสำคัญ (Keyword) คำว่า การประกันคุณภาพการศึกษา และการมีส่วนร่วม
            1.2 ค้นหาจากระเบียนหนังสือในห้องสมุด วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี โดยใช้คำสำคัญ (Keyword) เหมือนในข้อ 1.1
            1.3 สอบถามชื่อเรื่องผลงานวิจัยโดยตรงจากอาจารย์ที่มีรายชื่อผลิตผลงานวิจัยเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2556
            2. การคัดเลือกหลักฐานเชิงประจักษ์ (Selection criteria)
            คณะอนุกรรมการสังเคราะห์งานวิจัยทำการคัดเลือกผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้
            2.1 เกณฑ์การคัดเลือกเข้า (Inclusion criteria)
            2.2 รูปแบบการวิจัย แบ่งเป็น
                        2.2.1 เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง หรือกึ่งทดลองที่ทดสอบประสิทธิผลการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา
                        2.2.2 เป็นงานวิจัยเชิงพรรณนาที่อธิบาย หรือทำนายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา
                        2.2.3 เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา
            3. การรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data collection and Data analysis)
            การรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนการนำผลงานวิจัยที่ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกในข้อ 2 มาตรวจสอบ ประเมินคุณภาพความน่าเชื่อถือ วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งของงานวิจัย    ผลงานวิจัยเรื่องใดที่ผ่านการประเมินคุณภาพจะถูกนำไปสังเคราะห์องค์ความรู้และจัดทำข้อเสนอแนะ โดยมีลำดับขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
            3.1 ประเมินคุณภาพผลงานวิจัยที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในข้อ 2 ตามหลักเกณฑ์การทบทวนผลงานวิจัยและการประเมินคุณภาพงานวิจัยของ Joanna Brigg Institute (JBI), 2014 ตามแบบฟอร์มการประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงทดลอง และงานวิจัยเชิงพรรณนาโดยกำหนดให้มีผู้ประเมินคุณภาพงานวิจัย จำนวน 9 คน แต่ละคนอ่านและประเมินคุณภาพผลงานอย่างเป็นอิสระ แต่ถ้าเกณฑ์การประเมินคุณภาพข้อใดผู้ประเมินมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน จะนำข้อคิดเห็นนั้นมาอภิปรายร่วมกันในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสังเคราะห์งานวิจัยอีกครั้ง  
            3.2 นำเสนอผลการประเมินคุณภาพงานวิจัยจากหลักฐานเชิงประจักษ์ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัย จากนั้นคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเข้าสู่กระบวนการสกัดข้อมูลเพื่อใช้เป็นองค์ความรู้    
            3.3 คณะอนุกรรมการสังเคราะห์งานวิจัยร่วมกันสกัดข้อมูลจากผลงานวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกโดยบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์มวิเคราะห์งานวิจัย ซึ่งประกอบด้วย วัตถุประสงค์ การออกแบบการวิจัย เครื่องมือการวิจัยหรือวิธีการทดลอง และผลการวิจัยที่ตอบปัญหาการวิจัย ข้อเสนอแนะจากการวิจัย จุดอ่อน-จุดแข็งและนำข้อสรุปที่ได้จากการวิเคราะห์งานวิจัยมาใส่ในตารางข้อเสนอแนะ (Recommendation tables)
            3.4 จัดทำข้อเสนอแนะ (Recommendations) ที่เป็นข้อค้นพบจากการสกัดผลงานวิจัยด้านด้านการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา และระบุระดับความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัยที่ใช้เป็นหลักฐานในการจัดทำข้อเสนอแนะ โดยใช้เกณฑ์กำหนดระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐาน (Joanna Brigg Institute, 2014) ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1ระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐาน (Joanna Briggs Institute, 2014)
ระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
รายละเอียดหลักฐาน
Level 1 – Experimental designs
Level 1.a – Systematic review of Randomized Controlled Trials (RCTs)

Level 1.b – Systematic review of RCTs and other study designs

Level 1.c – RCT

Level 1.d – Pseudo-RCTs
Level 2 – Quasi-experimental designs
Level 2.a – Systematic review of quasi-experimental studies

Level 2.b – Systematic review of quasi-experimental studies and other lower study designs

Level 2.c – Quasi-experimental prospectively controlled study

Level 2.d – Pre-test – post-test or historic/retrospective control group study
Level 3    Observational – Analytic designs
Level 3.a – Systematic review of comparable cohort studies

Level 3.b – Systematic review of comparable cohort and other lower study designs

Level 3.c – Cohort study with control group

Level 3.d – Case-controlled study

Level 3.e – Observational study without control group
Level 4    Observational – Descriptive studies
Level 4.a – Systematic review of descriptive studies
Level 4.b – Cross-sectional study
Level 4.c – Case series
Level 4.d – Case study
Level 5    Expert opinion and Bench research
Level 5.a – Systematic review of expert opinion

Level 5.b – Expert consensus

Level 5.c – Bench research/single expert opinion

            3.5 วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็ง หรือประเด็นปัญหาวิจัย ที่สามารถนำไปกำหนดทิศทางการพัฒนา                    การผลิตผลงานวิจัยที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของวิทยาลัย และกำหนดประเด็นการสังเคราะห์ความรู้เผยแพร่ต่อสาธารณชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาต่อไป
            3.6 นำเสนอข้อค้นพบจากการสังเคราะห์รายงานวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ข้อเสนอแนะการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสังเคราะห์ความรู้ของวิทยาลัยเพื่อพิจารณาความชัดเจนและความเป็นไปได้ในการนำข้อเสนอแนะไปใช้ในการปฏิบัติงานและเผยแพร่สู่สาธารณชน
            3.7 นำเสนอจุดอ่อนและจุดแข็งที่ค้นพบจากการสังเคราะห์รายงานวิจัยครั้งนี้ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการสังเคราะห์ความรู้ ร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัยของวิทยาลัยและพัฒนาการผลิตผลงานวิชาการของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) จำนวนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา 2) ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา 3) จุดอ่อนและจุดแข็งของงานวิจัย และ 4) แนวทางการพัฒนางานวิจัย เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมอาจารย์ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรีต่อไป
ผลการดำเนินงาน (Results)
            การนำเสนอผลการสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ประการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้   
            1. จำนวนผลงานวิจัย
            จากการสืบค้นผลงานวิจัยที่ดำเนินการโดยผู้วิจัยของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ในประเด็น                 การประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ หรือ เผยแพร่ในห้องสมุดของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี และวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ระหว่าง ปี พ.ศ. 2549-2556 พบว่า มีผลงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 5 เรื่อง แบ่งเป็น งานวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive study) จำนวน 4 เรื่อง และวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed-method study) จำนวน 1 เรื่อง ดังรายชื่อต่อไปนี้
            1. ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
            2. รูปแบบการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
            3. ความรู้ ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของบุคลากร ต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาวิทยาลัย        พยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี 2            
            4. ความรู้เกี่ยวกับการประกันคุณภาพ การรับรู้ และการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา           ของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
            5. การปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของบุคลากร วิทยาลัยพยาบาลบรมราช-   ชนนี สระบุรี
            2. ผลการวิเคราะห์งานวิจัย
            จากการวิเคราะห์ผลงานวิจัยโดยคณะอนุกรรมการสังเคราะห์งานวิจัย ตามเกณฑ์การประเมินความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัยที่ใช้เป็นหลักฐาน พบว่า งานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง ผ่านเกณฑ์การประเมินความน่าเชื่อถือระดับ 4.b ผลงานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจ และมีรายละเอียดที่ควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป




3. ข้อเสนอแนะแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา
            จากงานวิจัยทั้งหมด 5 เรื่อง ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัยที่ใช้เป็นหลักฐาน คณะอนุกรรมการสังเคราะห์งานวิจัยได้นำข้อมูลจากการวิเคราะห์ผลงานวิจัยมาสกัดเป็นองค์ความรู้และสรุปเป็นข้อเสนอแนะตามกระบวนการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมใน                         การประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วยข้อเสนอแนะ 4 ด้าน ได้แก่ การวางแผน (plan) การปฏิบัติ (do)                    การตรวจสอบ (check) และการปรับปรุงแก้ไข (action) ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3 ข้อเสนอแนะแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา
ข้อเสนอแนะ (Recommendation)
1. การวางแผน (Plan)
1.1 เตรียมอาจารย์และบุคลากร
ก่อนการการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา ควรเตรียมความพร้อมของอาจารย์และบุคคลากรดังนี้
·     เตรียมความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา ในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (หลักฐานระดับ 4.b)
·     เตรียมทักษะในการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา (หลักฐานระดับ 4.b)
1.1 เตรียมนักศึกษา
ก่อนการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา ควรเตรียมความพร้อมของนักศึกษาดังนี้
·        เตรียมความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษาทุกชั้นปี (หลักฐานระดับ 4.b)
·        จัดกิจกรรมส่งเสริมตลอดหลักสูตรให้นักศึกษารับรู้การดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา (หลักฐานระดับ  4.b)
1.3 เตรียมสิ่งแวดล้อม (โครงสร้างองค์กร ผู้นำ วัฒนธรรมองค์กร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สภาพทางกายภาพ)
·     ผู้นำ สภาพทางกายภาพ และโครงสร้างองค์กรอาจจะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา (หลักฐานระดับ 4.b)
·     จัดเตรียมทรัพยากรสนับสนุนการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์ ฐานข้อมูล (หลักฐานระดับ 4.b)
2. การปฏิบัติ (Do)
·        บุคลากรทุกระดับควรมีส่วนร่วมในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาในสภาพจริงอย่างต่อเนื่อง (หลักฐานระดับ 4.b) 
·        การจัดการเรียนการสอนของสถาบันปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาทุกตัวบ่งชี้ (หลักฐานระดับ 4.b)
·        การจัดการเรียนการสอนของสถาบันควรคำนึงถึงตัวบ่งชี้ระบบและกลไกการพัฒนาและบริหารหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนให้บัณฑิตได้งานทำ และการจัดบริการแก่นักศึกษาและศิษย์เก่า  (หลักฐานระดับ 4.b)
·        พัฒนาทักษะบุคลากรทุกระดับในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา (หลักฐานระดับ 4.b)
3. การตรวจสอบ (Check)
·        การประเมินปัญหา และอุปสรรคทุกขั้นตอนของกระบวนการการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (หลักฐานระดับ 4.b)
·        ให้บุคลากรทุกระดับประเมินกระบวนการการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (หลักฐานระดับ 4.b)
4. การปรับปรุงแก้ไข (Act)
ไม่พบหลักฐานจากงานวิจัยที่สะท้อนถึงการตรวจสอบผลกระทบของกระบวนการ                        การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อนำมาสรุปข้อเสนอแนะ
          4. จุดอ่อนและจุดแข็งของงานวิจัยเพื่อพัฒนาการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา
            จากการวิเคราะห์ผลงานวิจัยในภาพรวมพบว่ามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ในด้านจุดแข็งคือ การได้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา งานวิจัยโดยส่วนใหญ่เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรของวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว มีงานวิจัยเพียง 1 เรื่องที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนของประชากร นอกจากนี้ส่วนใหญ่รายงานการใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพในงานวิจัย 5 เรื่อง และได้ข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ตอบวัตถุประสงค์การวิจัย
            ในด้านจุดอ่อนพบว่า การคำนวณกลุ่มตัวอย่างควรใช้ขนาดอิทธิพล รูปแบบการเขียนรายงานในงานวิจัยส่วนใหญ่อภิปรายข้อค้นพบโดยภาพรวม ยังขาดการนำเสนอและข้อค้นพบที่เป็นรายละเอียด ดังรายละเอียดในตารางที่ 4

ตารางที่ 4 จุดแข็งและจุดอ่อนของงานวิจัย
จุดแข็ง
จุดอ่อน
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์การวิจัยชัดเจนและสอดคล้องกับ              การออกแบบการวิจัย
วัตถุประสงค์
-
กรอบแนวคิด
-
กรอบแนวคิด
การเขียนกรอบแนวคิดในรายงานวิจัยยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย เช่น วัตถุประสงค์ต้องการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มแต่การนำเสนอกรอบแนวคิดเขียนในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
การออกแบบการวิจัย
ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา
การออกแบบการวิจัย
 - (Descriptive study)

ประชากรและตัวอย่าง
1. ขนาดกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนเพียงพอและได้มาโดย               การสุ่ม
2. รายงานวิจัยบางเรื่องเป็นกลุ่มประชากรทั้งหมด
ประชากรและตัวอย่าง
1. การคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างควรใช้ขนาดอิทธิพล (Effect size) ที่เหมาะสมกับการเลือกใช้สถิติ
2. การระบุขนาดกลุ่มตัวอย่างภายหลังจากการเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ชัดเจน
เครื่องมือวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูล
เครื่องมือที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มีความน่าเชื่อถือผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาและหาค่า                  ความเที่ยง
เครื่องมือวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูล
การเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลควรคึงถึงข้อตกลงเบื้องต้น เช่น การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA)
ข้อค้นพบจากงานวิจัย
การอภิปรายข้อค้นพบจากงานวิจัยเป็นการนำเสนอโดยภาพรวม
ข้อค้นพบจากงานวิจัย
 การอภิปรายข้อค้นพบจากงานวิจัยในรายละเอียดข้อย่อยบางประการจะช่วยเพิ่มความชัดเจนใน                การนำเสนอผลการวิจัยที่ตอบวัตถุประสงค์การวิจัย

          5. แนวทางการพัฒนางานวิจัย
ผลการศึกษานำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาโจทย์วิจัยและการปรับปรุงคุณภาพงานวิจัยดังนี้
            1. ปัญหาการวิจัยที่ควรค้นหาคำตอบเพิ่มเติมเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สมบูรณ์มากขึ้น
                        1.1 ประสบการณ์ และ ผลกระทบของกระบวนการการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาคืออะไร
                        1.2 ความพึงพอใจ ปัญหาและอุปสรรคของบุคลากรต่อกระบวนการการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาคืออะไร
                        1.3 ควรศึกษาปัจจัยที่ช่วยทำนายต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาและเขียนเป็นสมการทำนาย
            2. พัฒนารูปแบบการการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) เช่น การวิจัยและพัฒนา (Research and development: R&D) การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory action research: PAR)
3. การวิจัยเชิงบรรยายควรเพิ่มจำนวนสถานที่การทำวิจัยและขนาดกลุ่มตัวอย่าง การคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างควรมีความชัดเจนโดยใช้ค่าขนาดอิทธิพลจากการศึกษาที่ผ่านมาใช้คำนวณและแสดง ขนาดอิทธิพลในแต่ละคู่ว่ามีขนาดเท่าใดเพื่อนำมาใช้ในการประมาณขนาดของกลุ่มตัวอย่าง

สรุป (Conclusion)
            การสังเคราะห์งานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมี               ส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ได้ข้อเสนอแนะตามกระบวนการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา 4 ด้าน ได้แก่ การวางแผน (plan) การปฏิบัติ (do) การตรวจสอบ (check) และการปรับปรุงแก้ไข (action)  
            การผลิตผลงานวิจัยของวิทยาลัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมา มีทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน เช่น การออกแบบการวิจัย ประชากรและตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูล จึงมีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการทำวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ที่นำเสนอดังกล่าวข้างต้น

ข้อจำกัดของการสังเคราะห์งานวิจัย (Limitation)
            การสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้ มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา จำนวนทั้งหมด 5 เรื่อง ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพทุกเรื่อง เป็นที่น่าสังเกตว่าผลงานวิจัยทุกเรื่องออกแบบการวิจัยเชิงพรรณนาเพียงแบบเดียว ดังนั้นข้อจำกัดของการสังเคราะห์งานวิจัยครั้งนี้ คือ องค์ความรู้ที่ได้มาจากงานวิจัยเพียงระดับ 4.b เท่านั้น




รายการอ้างอิง
คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา คณะอนุกรรมการพัฒนาการประกันคุณภาพ     การศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา. (2554). คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา      อุดมศึกษา พ.ศ. 2553. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.
จันทิมา จารณศรี และภัชญา ธงศิลา. (2549). ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี. วารสารการพยาบาลและการสาธารณสุข วิทยาลัยเครือข่ายภาคกลาง 2. 5(2), 44-54.
ปานทิพย์ ปูรณานนท์. (2556). การปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของบุคลากร          วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี. วารสารพยาบาล. 62(9), 1-9.
เพ็ญศรี จึงธนาเจริญเลิศ และภัชญา ธงศิลา. (2554). ความรู้ ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของบุคลากร ต่อการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี. การพยาบาลและการศึกษา. 4(3), 92-105.
เมธิณี เกตวาธิมาตร. (2555). ความรู้เกี่ยวกับการประกันคุณภาพ การรับรู้ และการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี. วารสารเกื้อการุณย์. 19(1), 87-101.
เมธิณี เกตวาธิมาตร เพ็ญศรี จึงธนาเจริญเลิศ ภัชญา ธงศิลา ปานทิพย์ ปูรณานนท์ และประภาส ธนะ. (2553).    รูปแบบการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี [รายงานวิจัย].           สระบุรี: วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี.
สถาบันพระบรมราชชนก. สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2551). คู่มือการประกันคุณภาพภายใน สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข. ม.ป.ท.: สถาบัน.
สถาบันพระบรมราชชนก. สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2554). แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาสถาบันพระบรม-           ราชชนก (พ.ศ. 2554-2558).  กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
The Joanna Briggs Institute Levels of Evidence and Grade of Recommendation Working Party. (2014). Supporting document for the Joanna Briggs Institute levels of evidence and grades of recommendation. Retrieved from http://joannabriggs.org/jbi-approach.html#tabbed-nav=Levels-of-Evidence  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น