วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ในวิชา กระบวนทัศน์ในการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์



วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี  สระบุรี
การจัดการความรู้ เรื่อง  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์
ในวิชา  กระบวนทัศน์ในการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
หลักสูตร  พยาบาลศาสตรบัณฑิต  เรียนในชั้นปีที่  2
                                                                        โดย อาจารย์สุจิรา  เหลืองพิกุลทอง
          ในการจัดการเรียนการสอนวิชาใดวิชาหนึ่งผู้สอนต้องศึกษาจุดมุ่งหมายของวิชา  วัตถุประสงค์รายวิชาก่อน  แล้วนำมาซึ่งการออกแบบวิธีการสอน  กิจกรรมการเรียนการสอน  และการประเมินผล ซึ่งในรายวิชานี้มีจุดมุ่งหมายของรายวิชาดังนี้
          เมื่อเรียนจบรายวิชานี้แล้ว  นักศึกษาสามารถปรับกระบวนการคิด  และพัฒนาความคิดเพื่อให้เข้าใจชีวิตผู้ใช้บริการในสภาพความเป็นจริง ประยุกต์ความรู้ไปใช้ในการบริการสุขภาพ  ด้วยความเข้าใจผู้ใช้บริการ  และพัฒนาศักยภาพการดูแลสุขภาพของประชาชน
วัตถุประสงค์ในการพัฒนา/ปรับปรุงรายวิชา
1. เพื่อให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ของหลักสูตรและปรับปรุงเนื้อหาให้มีความทันสมัย
   2. เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง  อย่างเป็นรูปธรรม  มีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
คำอธิบายรายวิชา
          แนวคิดเกี่ยวกับความจริง  ความดี  ความงามของชีวิต  สมดุลของชีวิต  การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของตนเอง  ความสัมพันธ์ของมนุษย์แบบ  อนาริยะ  การทำหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์  ฝึกสัมผัสความรู้สึก  แง่ความงาม  ความจริงของชีวิต  ฝึกสติ  สมาธิ  ภาวนา  และการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์
         จากการศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชา  คำอธิบายรายวิชา นำมาสู่การออกแบบวิธีการสอน  และการประเมินผลมีดังนี้
วิธีการสอน
1.การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง
2.ศึกษาค้นคว้า  เรียนรู้ด้วยตนเอง
3.อภิปรายและแนะนำ
วิธีประเมิน
1.ประเมินรายงาน  การวิเคราะห์กรณีศึกษาและการนำเสนออภิปราย
2.ประเมินจากบันทึกการเรียนรู้
        จากการศึกษาวิธีการสอน อาจารย์ผู้สอนได้ร่วมประชุมและออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิธีการสอนและการประเมินผล    ซึ่งกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชานี้ประกอบด้วย 
1.      การปฏิบัติธรรม โดยการฝึกสมาธิ  ทำให้นักศึกษาเข้าใจตนเอง  เข้าใจผู้อื่น   เข้าใจสาเหตุแห่งโรค
สมาธิ  คือ  การนำไปสู่ความสงบภายใน  มีขั้นตอนชัดเจน  เรียบง่าย  สามารถปฏิบัติได้ทุกคน  ทุกเพศ  ทุกวัย  เป็นสิ่งที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้  ทุกเวลา  ทุกสถานการณ์  โดยไม่ขัดต่อใด ๆ เป็นเรื่องของใจล้วน ๆ ที่ส่งผลต่อกาย
ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ  ส่งผลต่อตนเอง
1. ด้านสุขภาพจิต  ส่งเสริมให้สุขภาพของใจดีขึ้น  คือจิตใจผ่องใส  สะอาด  บริสุทธิ์  สงบ 
เยือกเย็น  และปลอดโปร่ง  ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจ  ทำอะไร  คิดอะไร  ได้รวดเร็ว  ถูกต้อง  เลือกคิด  แต่สิ่งที่ดีเท่านั้น
       2. ด้านบุคลิกภาพ เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี กระฉับกระเฉง  กระปี้กระเปร่า สง่าผ่าเผย 
ผิวพรรณ ผ่องใส  มีความมั่นคงทางอารมณ์  แน่วแน่  เยือกเย็นและเชื่อมั่นในตนเอง  มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  วางตนได้เหมาะสมกับกาลเทศะ  เป็นผู้มีเสน่ห์  เพราะไม่โกรธ  มีเมตตา  กรุณา  ต่อผู้อื่น
     3. ด้านชีวิตประจำวัน  ช่วยให้คลายเครียด  เป็นเครื่องส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานและ
การศึกษาเล่าเรียน  ช่วยเสริมให้มีสุขภาพร่างกาย  แข็งแรงเพราะร่างกายกับจิตใจย่อมมีอิทธิพลต่อกัน  ถ้าจิตใจเข้มแข็ง  ย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว
       ๒.กิจกรรมดนตรีกับความงามของชีวิต  โดย  ศุ  บุญเลี้ยง
                   ทำให้นักศึกษามีความอ่อนโยน  เข้าใจที่มาของดนตรีและเสียงเพลง  “อิ่มอุ่น”  เข้าใจธรรมชาติของคน  เข้าใจอารมณ์ของผู้แต่งในแง่มุมต่าง ๆ เพลงอิ่มอุ่น  คำร้อง-ทำนอง  ศุ  บุญเลี้ยง  แต่งเพลง”อิ่มอุ่น”  ตามคำขอของอาจารย์หัวหน้าพยาบาล  โรงพยาบาลศิริราช  เมื่อปี  พ.ศ.2534  โดยหัวหน้าเป็นพี่สาวของศุ  บุญเลี้ยง  พี่สาวเป็นพยาบาล  ได้ทำโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  แล้วต้องการให้ศุ  บุญเลี้ยง  แต่งเพลงนี้ขึ้น  เพราะเห็นว่าในการให้นมลูก  แม่ต้องตระกองกอด  แล้วช้อนตัวลุกขึ้นมา  จึงไม่ได้ทำให้  “อิ่ม”  อย่างเดียว  แต่ว่า  “อุ่น”  ด้วย
                   เพลงนี้ได้บันทึกเสียงในรูปอัลบั้มเพลงครั้งแรกในปี  พ.ศ.2537  โดยใช้ชื่อชุด  “รับแขก”  โดยผู้ร้องคือ  ชลลดา  เตียวสุวรรณ  (กาเหว่า  ไทละเมอ , เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย  ต่อมานำมาทำเวอร์ชั่นต่าง ๆ ที่เป็นของ  ศุ  บุญเลี้ยง  และในเครือกะทิ  กะลา  ไว้ในหลายอัลบั้ม  ต่างช่วงเวลากัน  อีกทั้งชื่อเพลงยังใช้เป็นชื่อร้านอาหารของ  ศุ  บุญเลี้ยงเองด้วย
                   ปัจจุบัน  “อิ่มอุ่น”  เป็นเพลงที่มีการเผยแพร่ตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงวันแม่แห่งชาติ  ทุก ๆ ปี  ทั้งในแนวลูกทุ่ง  แนวเพื่อชีวิต  แนวอินดี้  ที่นำมาขับร้อง
                   โดยเมื่อฟังเพลงนี้เมื่อไร  จะซาบซึ้งในความรู้สึกที่ได้จากเนื้อเพลงนี้
เพลง  อิ่มอุ่น  ของศุ  บุญเลี้ยง

อุ่นใดๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม
อุ่นอกอ้อมแขนอ้อมกอดแม่ตระกอง
รักเจ้าจึงปลูก รักลูกแม่ย่อมห่วงใย
ไม่อยากจากไปไกล แม้เพียงครึ่งวัน
ให้กายเราใกล้กัน ให้ดวงตาใกล้ตา
ให้ดวงใจเราสองเชื่อมโยงผูกพัน
อิ่มใดๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม
อิ่มอกอิ่มใจ อิ่มรักลูกหลับนอน
น้ำนมจากอก อาหารของความอาทร
แม่พร่ำเตือนพร่ำสอน สอนสั่ง
ให้เจ้าเป็นเด็กดี ให้เจ้ามีพลัง
ให้เจ้าเป็นความหวังของแม่ต่อไป
ใช่เพียงอิ่มท้อง
ที่ลูกร่ำร้องเพราะต้องการไออุ่น
อุ่นไอรัก อุ่นละมุน
ขอน้ำนมอุ่นจากอกให้ลูกดื่มกิน
ประโยชน์ของการฟังเพลง
เพลงจะช่วยขับกล่อมและมีส่วนในการควบคุมความเจ็บปวด ความวิตกกังวลของคนไข้  และทำให้
ความดันโลหิตลดลงได้อย่างเฉียบพลันผลวิจัยของสมาคมแพทย์  โรคความดันโลหิตสูงอเมริกันรายงานว่า
ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงอย่างอ่อน  จะสามารถทำให้ลดลงได้  โดยการฟังเพลงคลาสสิก  วันละ  ½  ชั่วโมง  ติดต่อกัน  1  เดือน  โรคความดันโลหิตสูงจะลดลง
           ๓. กิจกรรมดอกไม้กับความงามของชีวิต
               นักศึกษาร้อยมาลัยดอกไม้สด  โดยเชิญอาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวะศึกษามาให้ความรู้  การร้อยมาลัยเป็นการฝึกความอ่อนโยน  ความอดทนที่จะร้อยมาลัยให้เสร็จ  (เป็นการทำงานให้สำเร็จ)  ฝึกสมาธิ ตั้งใจในการทำมาลัยให้ออกมาอย่างสวยงาม  การร้อยมาลัย  คือการนำดอกไม้มาร้อยเป็นพวง
                   มาลัย  หมายถึง  ดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทย  ลักษณะหนึ่งโดยการนำดอกไม้  กลีบดอกไม้  ใบไม้และส่วนต่าง ๆ ของดอกไม้ที่ร้อยได้  และนำมาร้อย
                   งานร้อยดอกไม้มีหลากหลายประเภทจากงายไปยาก  การร้อยมาลัย  ต้องเลือดใช้ดอกไม้ประเภทต่าง ๆ ได้แก่  ดอกมะลิ  ดอกกุหลาบ  ดอกพุด  ดอกกล้วยไม้  และอื่น ๆ   ส่วนดอกไม้ที่เหมาะสำหรับทำดอกตุ้มได้แก่  ดอกจำปี  ดอกจำปา  ดอกบานไม่รู้โรย  ดอกกล้วยไม้  ดอกกุหลาบ  ฯลฯ  ส่วนใบที่นิยมใช้ได้แก่  ใบแก้ว  ใบกระบือ  เป็นต้น
                   การร้อยมาลัยช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้เรื่องมาลัยและยังสอนให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้านความขยัน  อดทน  อดออม  การรู้จักแบ่งปัน  ความอ่อนน้อมถ่อมตน  และเป็นการฝึกสมาธิ
ประโยชน์การร้อยมาลัย
1.สามารถนำความรู้มาปฏิบัติในชีวิตจริงได้  เช่น  ร้อยมาลัยในวันแม่  หรือวันพ่อ  และวันไหว้ครู
2.สามารถนำความรู้ที่มีไปบอกต่อและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังได้
          3.ความรู้ที่มีมาปฏิบัติ  การบอกต่อนั้นยังถือได้ว่าเป็นการอนุรักษณ์ภูมิปัญญาไทยอีกด้วย
          ๔. มีผลต่อจิตใจโดยผู้ร้อยมาลัยมีใจรัก  ไม่เครียดและใจเย็น
          5.เมื่อทำเสร็จผู้ร้อยจะภาคภูมิใจในผลงาน

บทสรุป
          ในฐานะเป็นอาจารย์คนหนึ่ง  ตอนแรกก็มองว่าการสอนให้นักศึกษาเป็นคนดี  มีคุณธรรม  จริยธรรม  เห็นอกเห็นใจคนอื่น  คงทำให้นักศึกษาเป็นพยาบาลที่ดีได้  แต่พอฟังเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการ  เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์  ก็รู้ว่าการให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เป็นจิตวิญญาณของการบริการในยุคปัจจุบัน  ที่บุคลากรสาธารณสุขต้องตระหนักรู้  เราเองในฐานะผู้สอนต้องมีส่วนในการสร้างนักศึกษาให้เข้าใจกระบวนการบริการ  รักงานการบริการ  และให้บริการด้วยหัวใจ  ผู้รับบริการสาธารณสุขเป็นคนทุกข์  คนยาก  คนที่มีความเดือดร้อน  ทุกข์ใจ  หากเรายังมองคนไข้เป็นแค่ความเจ็บป่วย  การให้บริการเป็นหน้าที่  คงไม่สามารถบรรลุถึงหัวใจของการบริการนี้ได้
         ส่วนหนึ่งก็รู้สึกภูมิใจที่วิทยาลัยฯ  ของเรามีการจัดการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการเพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์  สิ่งที่เห็นตามมาอีกคือ  อาจารย์ได้มีการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการเรียน  ปัญหาส่วนตัว  และเห็นสีหน้า  แววตา  อาจารย์ที่นำเสนอ (ดร.กันยารัตน์)  มีความสุขกับการสอนมาก  คิดว่าผู้สอนได้ใส่หัวใจเข้าไปในการจัดการเรียนการสอนด้วยเช่นกัน
        การจัดการเรียนการสอนที่พัฒนานักศึกษาให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์ผู้สอนใช้ศาสตร์ผสมกับศิลปะในการสอน  เน้นให้นักศึกษาเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้รับบริการ  เข้าถึงความเจ็บป่วยของผู้รับบริการมากกว่าโรค  ซึ่งในการสอนอาจารย์ได้ใช้หลักการสะท้อนคิด  ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการเข้าค่ายธรรมะ  การร้อยมาลัย  การฟังดนตรี(ศุ  บุญเลี้ยง)  ในการเรียนการสอน  เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจตนเอง  เข้าใจผู้อื่น  เข้าใจความแตกต่างของคนไข้  หรือผู้รับบริการ
        สุดท้ายขอขอบคุณทีมงานการจัดการความรู้ที่ช่วยกระตุ้นให้รู้  เปิดโอกาสให้คิด  และช่วยกันพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจในมิติของความเป็นมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น