วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
การจัดการความรู้เรื่อง พยาบาลกับการป้องกันการบาดเจ็บ
โดย......อ.ภูวสิทธิ์ สิงห์ประไพ
การป้องกันการบาดเจ็บเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดอุบัติการณ์ของการบาดเจ็บ
หลักการการป้องกันการบาดเจ็บที่นิยมใช้ ประกอบด้วย การป้องกัน 3 ระยะ
กลยุทธ์ในการป้องกันการบาดเจ็บโดยการใช้ 5E
และการใช้ขอบเขตของลำดับการป้องกัน
1. การป้องกันการบาดเจ็บ 3 ระยะ
การป้องกันระยะที่ 1 (Primary Prevention)
การป้องกันระยะที่
1 หมายถึง การกระทำที่ป้องกันไม่ให้การบาดเจ็บเกิดขึ้น
หรือการป้องกันเพื่อไม่ให้นำไปสู่การเกิดการบาดเจ็บ ดังนั้นการป้องกันระยะนี้จะดำเนินการป้องกันก่อนที่การบาดเจ็บจะเกิดขึ้น
ซึ่งการป้องกันระยะแรกเกี่ยวข้องกับการดำเนินการหลัก 2 วิธีการ
คือ
1) การส่งเสริมสุขภาพ
ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความสามารถโดยทั่วไปของบุคคลและชุมชนที่จะป้องกันโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บ
ตัวอย่างของกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น
-
การให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายผ่านทางการสื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
-
การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น
ปรับให้ถนนมีแสงสว่างเพียงพอ การมีรั้วรอบสระน้ำ
-
การบังคับใช้กฎหมาย เช่น
การจำกัดความเร็ว การห้ามขับรถขณะเมาสุรา (Drunk Driving)
และการสุ่มตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป่า มาตรฐานการสร้างตึกและอาคารในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวและพายุไซโคลน
และการลดภาษีโรงงานที่ผลิตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
2) การป้องกันเฉพาะ
เป็นการใช้อุปกรณ์หรือวิธีการเฉพาะสำหรับการป้องกันการบาดเจ็บเฉพาะที่ เช่น
การใส่แว่นตาเมื่อเชื่อมโลหะ การใส่ถุงมือและเสื้อผ้าเมื่อสัมผัสสารเคมี และการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อป้องกันรังสี
การป้องกันระยะที่
2 (Secondary Prevention)
การป้องกันระยะที่
2
หมายถึง การกระทำเพื่อจำกัดหรือลดความก้าวหน้าของโรคในระยะเริ่มแรก
และป้องกันภาวะแทรกซ้อน
การป้องกันระยะนี้เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรกและการให้การดูแลการบาดเจ็บอย่างเหมาะสม
โดยจะเริ่มดำเนินการทันทีหลังจากที่เกิดการบาดเจ็บ ตัวอย่างของกลยุทธ์การป้องกันการบาดเจ็บระยะที่
2 เช่น การปฐมพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ
การดูแลก่อนนำส่งโรงพยาบาล การขนส่ง
และการดูแลผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลอย่างครอบคลุม
การป้องกันระยะที่ 3 (Tertiary Prevention)
การป้องกันระยะที่ 3
เป็นการกระทำเพื่อลดหรือขจัดความบกพร่องในระยะยาวและความพิการ
ส่งเสริมการปรับตัวกับสภาพที่ไม่มีทางรักษาได้ และทำให้เกิดผลลัพธ์สุดท้ายที่ดีที่สุด
ซึ่งการฟื้นฟูสภาพเป็นวิธีการหลักของการป้องกันในระยะนี้
ทั้งนี้การฟื้นฟูสภาพครอบคลุมทั้งการฟื้นฟูการทำหน้าที่ของร่างกาย จิตใจ (เช่น
คุณค่าในตนเองและบุคลิกภาพที่ดี) สังคม (สัมพันธภาพของผู้บาดเจ็บกับสังคมและชุมชน)
และความสามารถในการประกอบอาชีพ
2. กลยุทธ์ในการป้องกันการบาดเจ็บโดยการใช้ 5E
กลยุทธ์สำหรับการป้องกันการบาดเจ็บ 5E ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้
1)
วิศวกรรม (Engineering) หมายถึง
การผลิตหรือดัดแปลงผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยสำหรับประชาชน รวมทั้งการใช้หลักทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีในการป้องกันบุคคลจากสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการถ่ายโอนพลังงาน
เช่น หมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย
2)
การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม (Environmental Modifications)
หมายถึงการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดโอกาสในการเกิดการบาดเจ็บโดยการลดภาวะเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
3)
การบังคับใช้ (Enforcement) หมายถึง
การกำหนดและการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลหรือกำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์
เช่น กฎหมายที่บังคับให้มีการใช้เข็มขัดนิรภัย เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก
หมวกนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์และมอเตอร์ไซค์ กฎหมายในการจำกัดความเร็ว
มาตรฐานความปลอดภัยในโรงเรียน รถโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก สถานบริการสาธารณสุข
และสถานที่ทำงาน การควบคุมพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เมาสุราแล้วขับรถ
มาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในรถ
และการกำหนดให้มีระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury
Surveillance) และทะเบียนการบาดเจ็บ (Trauma Registries) และฐานข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ ในศูนย์อุบัติเหตุ ระดับ
1 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดและเป็นการรักษาในระดับตติยภูมิ
นอกจากนี้ยังรวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เพียงพอสำหรับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
การบังคับใช้กฎหมายที่เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
รวมทั้งกฎหมายและบรรทัดฐานที่รับรองการผลิตและการกระจายของผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย
4) การศึกษา
(Education)
และ การเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) หมายถึง โปรแกรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ
และพฤติกรรมของประชาชนทั่วไป และบุคคลซึ่งมีภาวะเสี่ยงสูงที่จะเกิดการบาดเจ็บหรือทำให้เกิดการบาดเจ็บ รวมทั้งการเพิ่มความตระหนักของประชาชนเกี่ยวกับอันตรายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
เพื่อลดการบาดเจ็บและลดระดับของความเสียหายหรือการสูญเสีย
ซึ่งกลยุทธ์ในการป้องกันการบาดเจ็บจะครอบคลุมตั้งแต่การให้ความรู้แก่ประชาชนเป็นรายบุคคลจนถึงการสร้างสรรค์วิธีการให้ความรู้กับสังคมแบบใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคม
5)
การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง การกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดว่าการปฏิบัติการ
โปรแกรมและนโยบายใดดีที่สุดสำหรับการป้องกันการบาดเจ็บ
ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายในการกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บ
ขอบเขตของลำดับการป้องกัน
(The
spectrum of prevention)
ขอบเขตของลำดับการป้องกัน
ได้รับการพัฒนาในปี ค.ศ. 1983
โดย Larry Cohen ซึ่งจัดทำวิซีดีการอบรมเกี่ยวกับการป้องกัน
เพื่อใช้เป็นโปรแกรมการป้องกันการบาดเจ็บของเด็กและวัยรุ่นในหน่วยงานสุขภาพระดับท้องถิ่นในเขต Contra Costa รัฐแคลิฟอร์เนีย
ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้การทำงานทางคลินิกของ Dr. Marshall Swift เกี่ยวกับการป้องกันความพิการด้านพัฒนาการเป็นฐาน
ซึ่งขอบเขตของลำดับการป้องกันสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการบาดเจ็บที่ซับซ้อนเนื่องจากได้รับการพัฒนามาจากการปฏิบัติและจากปัญหาที่ซับซ้อนที่ต้องใช้การแก้ปัญหาที่ครอบคลุม
ขอบเขตของลำดับการป้องกัน ประกอบด้วย 6
ระดับที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนี้
1)
เพิ่มความเข้มแข็งทางด้านความรู้และทักษะให้กับบุคคล
ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนข้อมูลและความรู้ในการปฏิบัติ
เพื่อเพิ่มแหล่งทรัพยากรส่วนบุคคลและความสามารถในการป้องกันการบาดเจ็บ
2)
ส่งเสริมความรู้ของชุมชน
โดยแนวคิดในการให้ความรู้แก่ชุมชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ที่มีข้อมูลและทรัพยากรเพื่อปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้น
3)
ให้ความรู้บุคลากรทางสาธารณสุข
ถ้าบุคลากรสาธารณสุขมีความเชี่ยวชาญในสาขาของตน จะสามารถถ่ายโอนข้อมูล ทักษะ
และแรงจูงใจไปสู่ผู้ป่วย ผู้รับบริการ และเพื่อนร่วมงาน
ดังนั้นบุคลากรสาธารณสุขต้องพัฒนาความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บให้ดีขึ้น
ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขมีความสามารถในการเป็นผู้แทน (Advocate)
ที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการบาดเจ็บ
4)
สนับสนุนพันธมิตรและเครือข่าย
แนวคิดในการสนับสนุนความร่วมมือกันจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้กลยุทธ์ที่จะนำผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมกัน
ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดริเริ่มในการทำโครงการที่เกิดความสำเร็จได้
พันธมิตรและการมีส่วนร่วมที่เพิ่มมากขึ้นนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันสุขภาพสาธารณะ
รวมทั้งการป้องกันการบาดเจ็บ
5)
เปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติขององค์กร
การตรวจสอบวิธีปฏิบัติขององค์กรหลัก เช่น องค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย
หน่วยงานทางสุขภาพ และโรงเรียน สามารถนำไปสู่สุขภาพและความปลอดภัยของชุมชนได้โดยทั่วไปแล้ว
ประชาชนและองค์กรมีความเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำในข้อนี้น้อยที่สุด
ทำให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องในระดับนี้ถูกละเลยมากที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้ว
การดำเนินการในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและบรรทัดฐานภายในองค์กรมีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของบุคคลากรในองค์กร
6)
มีอิทธิพลต่อนโยบายและกฎหมาย ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงกฎหมายท้องถิ่น
จังหวัดหรือประเทศ
รวมทั้งการยอมรับและบังคับใช้นโยบายที่เป็นทางการของคณะกรรมการบริหารขององค์กร
ซึ่งการมีอิทธิพลต่อนโยบายจะเป็นโอกาสในการทำให้มีการปรับปรุงผลลัพธ์ทางสุขภาพให้ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าในบางกรณีจะมีกฎหมายและนโยบายที่จะช่วยป้องกันสุขภาพสาธารณะและความปลอดภัยแล้ว
แต่การมีกฎหมายเพิ่มเติม การเปลี่ยนแปลงนโยบาย การบังคับใช้ที่ดีขึ้น
หรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติอาจจะมีความจำเป็นเพื่อให้การดำเนินการป้องกันการบาดเจ็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น
บทบาทของพยาบาลในการป้องกันการบาดเจ็บ
พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการบาดเจ็บ
โดยมีบทบาทหลักที่สำคัญในการเป็น ผู้ปฏิบัติการพยาบาล (Practitioner) ผู้ให้ความรู้ (Educator) ผู้วิจัย (Researcher) ผู้ดำเนินงานระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Officer in Injury
Surveillance) และผู้สนับสนุนหรือผู้แทน (Advocate)
1. บทบาทของพยาบาลในการผู้ปฏิบัติการพยาบาล
(Practitioner)
พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ให้การดูแลผู้บาดเจ็บและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการป้องกันการบาดเจ็บ
โดยมีบทบาทดังนี้
-
ในการป้องกันระยะที่ 1 พยาบาลควรเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนากลยุทธ์ในการป้องกันการบาดเจ็บ
เพื่อลดจำนวนและความรุนแรงของการบาดเจ็บ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการป้องกันการบาดเจ็บ
เช่น สนับสนุนเครือข่ายในชุมชนและระดับชาติเกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บ เพราะพยาบาลมีบทบาทในการร่วมมือกับสังคมเพื่อริเริ่มและสนับสนุนการกระทำที่ตอบสนองความต้องการของสาธารณะทางด้านสังคมและสุขภาพ
-
ในการป้องกันระยะที่ 2 และ 3 พยาบาลมีบทบาทในการเป็นผู้ดูแลผู้บาดเจ็บโดยใช้กระบวนการพยาบาล
เพื่อส่งเสริมการทำหน้าที่ที่สำคัญของร่างกาย การปรับตัวทางด้านสรีรวิทยา การปรับตัวทางด้านจิตใจและสังคม
และสนับสนุนทางด้านจิตวิญญาณ รวมทั้งฟื้นฟูสภาพของผู้บาดเจ็บ
นอกจากนี้พยาบาลควรมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านกำลังคนและทรัพยากรให้พร้อมรับกับการเกิดการบาดเจ็บ
อุบัติภัยหมู่และสาธารณภัย
-
พยาบาลต้องพัฒนาสัมพันธภาพเชิงวิชาชีพกับพยาบาลและวิชาชีพอื่นๆ
และต้องมีความสามารถในการประสานงานและทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ
และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการบาดเจ็บหรือการดูแลผู้บาดเจ็บ
ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรทางสาธารณสุข ผู้แทนจากชุมชน วิชาชีพทางด้านกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย
หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล รวมทั้งวิศวกร และผู้ผลิต เพราะการป้องกันการบาดเจ็บต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
-
ความปลอดภัยในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขก็มีความสำคัญและมีส่วนทำให้เกิดการบาดเจ็บของผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้
ดังนั้นพยาบาลควรจะสร้างมาตรฐานที่ส่งเสริมความปลอดภัยในสถานบริการสาธารณสุขและคุณภาพของการดูแล
รวมทั้งมีการพัฒนาและติดตามความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสาธารณสุข
-
พยาบาลควรร่วมรับผิดชอบในการธำรงรักษาและป้องกันสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
เนื่องจากปัญหาสาธารณภัยหลายปัญหาเป็นผลมาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
2. บทบาทของพยาบาลในการเป็นผู้ให้ความรู้
(Educator)
พยาบาลมีบทบาทในการเป็นผู้ให้ความรู้ (Educator) และผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (A behavior change
agent) โดยการใช้ข้อมูลเป็นฐาน
ดังนั้นในการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บ พยาบาลมีบทบาท ดังนี้
-
ในการป้องกันระยะที่ 1 พยาบาลควรมีบทบาทในการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บให้กับผู้ป่วย
ครอบครัว และชุมชนอย่างต่อเนื่อง
เพื่อลดการเกิดการบาดเจ็บหรือลดภาวะเสี่ยงของการเกิดการบาดเจ็บ เช่น
การป้องกันการพลัดตกหกล้ม การใช้เก้าอี้นิรภัยในเด็ก เข็มขัดนิรภัย และหมวกนิรภัย
และการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะกระทำได้โดยการจัดเตรียมแผ่นพับหรือเอกสารเกี่ยวกับการบาดเจ็บและการป้องกันการบาดเจ็บไว้ที่บริเวณห้องฉุกเฉินหรือหอผู้ป่วย อื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับผู้บาดเจ็บในสถานบริการสาธารณสุข เปิดวิดีโอเกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บในห้องที่ผู้รับบริการรอพบแพทย์ และจัดนิทรรศการหรือรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บในวันสำคัญทางสุขภาพหรือช่วงระยะเวลาที่มีอุบัติการณ์ของการบาดเจ็บสูง
เช่น วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ ซึ่งประชาชนมีการเดินทางเป็นจำนวนมาก
-
ในการป้องกันระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ลดภาวะแทรกซ้อนของการบาดเจ็บ
และส่งเสริมให้ผู้บาดเจ็บได้รับการฟื้นฟูสภาพในทุกด้าน
ดังนั้นพยาบาลมีบทบาทหลักในการให้ความรู้แก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวก่อนกลับบ้านเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่ต้องสังเกตและวิธีการปฏิบัติตนในการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของผู้บาดเจ็บ
-
พยาบาลควรประเมินผลลัพธ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการให้ความรู้และความรู้ที่ผู้บาดเจ็บ
ครอบครัวและชุมชนได้รับ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้น
3. บทบาทของพยาบาลในการเป็นนักวิจัย
(Researcher)
พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการพยาบาลและสุขภาพ การเป็นนักวิจัยเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เป็นความรับผิดชอบของพยาบาล โดยมีบทบาท ดังนี้
-
พยาบาลมีบทบาทที่สำคัญในการกำหนดและปฏิบัติตามมาตรฐานทางการพยาบาลดังนั้นพยาบาลควรสร้างมาตรฐานในการป้องกันการบาดเจ็บ
มาตรฐานในการดูแลผู้บาดเจ็บ และมาตรฐานในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับอุบัติภัยหมู่และสาธารณภัย
โดยใช้วิจัยเป็นฐานในการสร้างมาตรฐานต่าง ๆ
-
พยาบาลมีบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาชีพโดยใช้วิจัยเป็นฐาน ดังนั้น
พยาบาลควรทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บและการดูแลผู้บาดเจ็บ
และเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ในการนำผลการวิจัยไปใช้
-
พยาบาลควรมีบทบาทในการสนับสนุนการทำวิจัย
นำผลการวิจัย หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บและการดูแลผู้บาดเจ็บมาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อเพิ่มคุณภาพในการดูแลผู้บาดเจ็บ
รวมทั้งลดอุบัติการณ์การเกิดการบาดเจ็บของบุคคล ครอบครัว และชุมชน
-
พยาบาลควรมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ
รวมทั้งรู้จักวิธีการเข้าถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury
Surveillance) ทะเบียนข้อมูลการบาดเจ็บ (Trauma Registries) ข้อมูลการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บหรือการเกิดการบาดเจ็บจากทะเบียนราษฎร์
ตำรวจ ขนส่ง หรือบริษัทประกันภัย
เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำโครงการหรือโปรแกรมการป้องกันการบาดเจ็บ
หรือนำเสนอข้อมูลให้กับชุมชนหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการกับปัญหาการบาดเจ็บ
เพื่อประโยชน์ในการลดอุบัติการณ์หรือภาวะเสี่ยงของการเกิดการบาดเจ็บ
4. บทบาทของพยาบาลในการในการดำเนินงานระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ
(Officer in Injury Surveillance)
ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ
(Injury Surveillance: IS) เป็นระบบข้อมูลการบาดเจ็บที่ต่อเนื่อง
สามารถบอกขนาดของปัญหาการบาดเจ็บ ประชากรกลุ่มเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บ รวมทั้งบอกแนวโน้มการบาดเจ็บนั้นๆ ซึ่งระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของประเทศไทยได้รับการพัฒนาโดยสำนักระบาดวิทยา
กระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 เมื่อผู้บาดเจ็บมารับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ร่วมทำการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ
โรงพยาบาลจะเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่บาดเจ็บรุนแรงเกี่ยวกับการบาดเจ็บตั้งแต่เวลาเกิดเหตุ
สถานที่เกิดเหตุ สาเหตุ และความตั้งใจหรือเจตนาของการบาดเจ็บ
ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดบาดเจ็บ การดูแลปฐมพยาบาลจากจุดเกิดเหตุ
กลไกการบาดเจ็บ ธรรมชาติของการบาดเจ็บ (Nature of injuries) รวมทั้งการทำนายโอกาสรอดชีวิต
(Probability of survival) ของผู้บาดเจ็บ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการป้องกันการบาดเจ็บ
และพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บตั้งแต่เกิดเหตุไปจนถึงระยะฟื้นฟูสภาพ
รวมทั้งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมากในการประเมินผลการพัฒนาคุณภาพบริการรักษาพยาบาล
เช่น การทบทวนและประเมินคุณภาพการดูแลผู้บาดเจ็บ (Trauma Audit) การทบทวนการส่งต่อผู้บาดเจ็บ (Referral
Audit)
และการดำเนินงานตามแผนและโครงการของสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ
นอกจากนี้ข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บยังมีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพเพื่อการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล
(Hospital Accreditation : HA) อีกด้วย
5. บทบาทของพยาบาลในการเป็นผู้แทน
(Advocate)
- พยาบาลควรจะมีส่วนร่วมในการระบุผลิตภัณฑ์หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย
และให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้กับหน่วยงานที่กำกับดูแลหรือออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์หรือสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
- พยาบาลควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันการบาดเจ็บในครอบครัวและชุมชน
เช่น สวมใส่หมวกนิรภัยเมื่อขับขี่รถจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ คาดเข็มขัดนิรภัย
ใช้เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสนับสนุนการขายผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่าง
ๆในร้านค้าของโรงพยาบาล เช่น หมวกนิรภัยสำหรับจักรยานยนต์ของเด็ก และอุปกรณ์ป้องกันประตูหนีบ
- พยาบาลควรจะมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลหรือกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันการบาดเจ็บทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ตั้งแต่การกระทำในระดับง่าย ๆ เช่น การให้ข้อมูลกับผู้กำหนดนโยบายในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ
เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
หรือผลักดันนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการบาดเจ็บ เช่น
กฎหมายเกี่ยวกับหมวกนิรภัยหรือเข็มขัดนิรภัย กฎหมายเกี่ยวกับการขับรถเมื่อเมาสุรา
และการครอบครองอาวุธปืน จนถึงการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางด้านการป้องกันการบาดเจ็บ
- พยาบาลควรสนับสนุนการเพิ่มทุนและการจัดสรรงบประมาณสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการบาดเจ็บจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โดยพยาบาลควรค้นหาแหล่งทรัพยากรทางด้านการเงินที่สนับสนุนโปรแกรมทางสุขภาพและการป้องกันการบาดเจ็บ
เพื่อให้มีการจัดทำโปรแกรมที่ป้องกันการบาดเจ็บมากขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
- พยาบาลควรพัฒนาทักษะของการเป็นผู้แทน (Advocate) ในการป้องกันการบาดเจ็บ
ซึ่งพยาบาลจะต้องพัฒนาทักษะที่สำคัญในการเป็นผู้แทนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
ทักษะเหล่านี้ประกอบด้วย การแก้ปัญหา การสื่อสาร การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น
และการร่วมมือเพื่อที่จะทำให้การแก้ปัญหาการบาดเจ็บบรรลุผลสำเร็จ
ซึ่งการเป็นผู้แทนเป็นกระบวนการที่มีลำดับขั้นตอนและต้องอาศัยความพยายามเป็นอย่างมาก
เนื่องจากอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปีจึงจะสำเร็จ
สรุป
การบาดเจ็บเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งในระดับโลก
ภูมิภาค และประเทศ ซึ่งการบาดเจ็บสามารถป้องกันได้
โดยใช้แนวคิดในการป้องกันการบาดเจ็บ พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการบาดเจ็บทั้ง
3
ระยะ เพื่อลดอุบัติการณ์การบาดเจ็บและส่งเสริมผลลัพธ์ทางการพยาบาลในการดูแลผู้บาดเจ็บให้ดีขึ้น
ซึ่งการบาดเจ็บเป็นปัญหาสุขภาพที่ท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บของบุคคล
ครอบครัว ชุมชน และสังคม
อ้างอิง
อภิชาติ รอดสม และคณะ. (2558). การป้องกันการบาดเจ็บและการดูแล : คู่มือสำหรับหลักสูตร
พยาบาลศาสตรบัณฑิต สถาบันพระบรมราชชนนก. กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น